องค์ความรู้ในการขับเคลื่อนงาน (know-how) ของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล มีจุดเริ่มต้นก่อนการก่อตั้งองค์กรถึงเกือบ 3 ทศวรรษ โดยส่งผ่านจากแกนนำของ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ผู้ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการกำหนดยุทธศาสตร์การทำงานพัฒนาองค์กรชุมชนเพื่อลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของมูลนิธิฯ และมีสถานะเป็นเสมือน “แกนกลาง” ในการถ่ายทอดประสบการณ์และองค์ความรู้ในการพัฒนาแนวคิดและกระบวนการทำงานมาสู่องค์กรแห่งนี้ ก็คือ จะเด็จ เชาวน์วิไล ซึ่งมีประสบการณ์การทำงานร่วมกับมูลนิธิเพื่อนหญิงมาตั้งแต่ปี 2526 จนกระทั่งมีตำแหน่ง ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อนหญิง ตั้งแต่ปี 2544-2553
จะเด็จ สนใจทำงานพัฒนาขบวนการแรงงานหญิงตลอดมาจนเกิดการรวมกลุ่มอย่างเข้มแข็ง และนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงทางนโยบายในระดับชาติที่ยกระดับคุณภาพชีวิตและสุขภาวะแก่แรงงานหญิงในหลายด้านในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา
ประสบการณ์สำคัญที่ทำให้เกิดองค์ความรู้ที่คลี่คลายมาสู่แนวคิดและแนวทางการทำงานของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล มาจาก 3 ช่วงใหญ่ ๆ ดังนี้
นับตั้งแต่แผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 4 (พ.ศ.2520-2524) อันเป็นช่วงหลังจากประเทศไทยปรับนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรม โดยมุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก จนทำให้เกิดการขยายการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม และส่งผลให้ผู้หญิงจากชนบทเดินทางเข้ามาเป็นแรงงานในโรงงานเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ กลุ่มเพื่อนหญิง ได้ดำเนินโครงการศึกษาสภาพชีวิต ความเป็นอยู่ และผลกระทบที่เกิดขึ้นกับคนงานหญิง ในปี 2528 ทำให้ค้นพบปัญหาที่เกิดกับชีวิตแรงงานหญิงมากมาย ทั้งด้านสวัสดิการการจ้างงาน สุขภาพอนามัย และการดำรงชีวิต
สาเหตุเบื้องหลังปัญหาดังกล่าวประกอบด้วย 2 เรื่องที่สำคัญ คือ ปัญหาความยากจน ด้อยโอกาส อีกทั้งยังถมทับด้วย โครงสร้างสังคมแบบ “ชายเป็นใหญ่” ซึ่ง จะเด็จ ขยายความในรายละเอียดไว้ว่า
“การทำงานที่ผ่านมาทำให้เห็นชัดเจนว่า ผู้หญิงเองไม่ว่าชนชั้นไหนก็ถูกเอาเปรียบหมด ยิ่งถ้าเป็นผู้หญิงที่ยากจนก็จะยากลำบากยิ่งขึ้น”
เขาชี้ว่า ปัญหาของแรงงานหญิงนั้นมีความซับซ้อนกว่าปัญหาแรงงานทั่วไป เพราะไม่ใช่เรื่องของเศรษฐกิจโดด ๆ แต่มีมิติของวัฒนธรรมเรื่อง “ชายเป็นใหญ่” เกี่ยวพันด้วย
“ปัญหาแรงงานหญิง ผมคิดว่าเราจะมองแต่มิติการถูกนายจ้างเอาเปรียบ หรือมิติทางเศรษฐกิจอย่างเดียวไม่พอ แต่เขายังถูกโครงสร้างระบบ “ชายเป็นใหญ่” กดทับด้วย ดังนั้นในการเสริมสร้างความเข้มแข็งในขั้นแรกเราถึงต้องทำงานเชิงลึก ย้อนทวนกลับไปทำความเข้าใจกับชีวิตที่ผ่านมา ที่บางคนบอกว่า เอามิติเศรษฐกิจเป็นตัวนำในการแก้ปัญหา แล้วเดี๋ยวผู้หญิงจะดีขึ้นเอง นั่นเป็นความคิดที่ผิดพลาด การช่วยเหลือแรงงานหญิงจะละเลยมิติทางวัฒนธรรม เรื่องบทบาทหญิงชาย (Gender) ไม่ได้”
เมื่อผู้หญิงชนบทอพยพมาทำงานในโรงงานมากขึ้น แม้แรงงานหญิงเหล่านี้จะมีบทบาทในด้านเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น แต่ความเชื่อของสังคมที่ผูกติดกับผู้หญิง ที่เชื่อว่าผู้หญิงอ่อนแอ นุ่มนวล รับผิดชอบงานในบ้าน ทำให้ผู้ใช้แรงงานหญิงเมื่อมาทำงานก็จะถูกนายจ้างยกเรื่องความเป็นหญิงมาเป็นข้ออ้างเพื่อกำหนดเงื่อนไขการจ้างงาน โดยมองว่าผู้หญิงมีหน้าที่เป็นแม่บ้าน ไม่ได้มีหน้าที่หลักในการหาเลี้ยงครอบครัว และผู้หญิงมีข้อจำกัดมากมาย เช่น การมีประจำเดือน การตั้งครรภ์ ภาระการเลี้ยงดูลูก ดังนั้นจึงควรได้รับสวัสดิการและอัตราค่าจ้างและตำแหน่งงานต่ำกว่าเพศชาย และได้รับโอกาสน้อยกว่าผู้ชายในเรื่องการเลื่อนตำแหน่ง และมีโอกาสที่จะถูกคุกคามทางเพศในที่ทำงาน ขณะที่สถานการณ์ด้านความเป็นอยู่ที่บีบรัดทำให้ผู้ใช้แรงงานหญิงจำนวนมากไม่มีทางเลือกในการทำงานมากนัก จึงต้องทำงานในโรงงานที่ไม่ได้มาตรฐานและถูกละเมิดสิทธิอยู่เสมอ รวมทั้งไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเข้ามาเป็นผู้บริหารสหภาพแรงงานเพราะมีความเชื่อว่าบทบาทนี้เป็นของผู้ชาย
กระบวนการในการจัดการปัญหาดังกล่าวที่ถูกพัฒนาขึ้นก็คือ การเสริมสร้างพลังให้กลุ่มแรงงานหญิงเกิดความเปลี่ยนแปลงจากภายในตนเอง ซึ่งได้พัฒนาขึ้นจากประสบการณ์ที่สั่งสมระหว่างช่วง พ.ศ. 2529-2536 อธิบายให้เห็นภาพเป็นขั้นตอนได้ ดังนี้
“ขั้นตอนเหล่านี้เกิดจากการที่เราเรียนรู้ไปท่ามกลางการปฏิบัติ เริ่มจากลงไปเยี่ยมบ้าน เยี่ยมหอพักของเขา เรียกว่า ลงไปแบบเชิงรุก ไปนั่งคุย ทำความรู้จัก สนิทสนม ปลุกให้เขาเห็นว่าผู้หญิงมีศักยภาพ พอเขาเริ่มยอมรับเรา ให้ความไว้วางใจ ถ้าเขามองเราเป็นพี่เป็นน้อง หรือลูกหลานก็เรียกว่า ประตูขั้นแรกผ่านแล้ว”
“จากนั้น เราก็ชวนให้เขาดึงเพื่อนเข้ามา แล้วทำกระบวนการกลุ่มศึกษา ซึ่งใช้กระบวนการแลกเปลี่ยนเชิงลึก ตั้งคำถามไปเรื่อย ๆ ให้เขาได้ทบทวนว่า ทำไมเขาต้องมาทำงานที่นี่ ทำไมสภาพมันแย่ เพื่อให้เขามองเห็นว่า เขาเองก็เป็นมนุษย์ไม่แตกต่างจากคนอื่น ๆ แต่ทำไมเขาต้องทำงานหนัก เป็นผู้ให้อย่างเดียว คอยหาเงินส่งที่บ้าน พอแม่บอกขอเงินไปให้พี่ชายน้องชายบวช หรือต้องเรียนหนังสือก็ต้องส่งไปให้ โดยไม่เคยตั้งคำถามกับตัวเองว่า ชีวิตของตัวเขาเองจะดีขึ้นได้อย่างไร ผมไม่ได้ตั้งคำถามเพื่อให้เขาต้องกบฏต่อสิ่งที่เป็นอยู่ แต่เขาอาจคิดถึงตัวเองให้ชัดเจนขึ้น เช่น จัดสรรเงินไปออมทรัพย์ให้มากขึ้น หรือเจียดเงินไปเรียนหนังสือนอกระบบ เป็นต้น”
“เมื่อเขาเริ่มมองเห็นศักยภาพตัวเองที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งต่าง ๆ ได้ ก็สะท้อนให้เห็นว่าทำคนเดียวไม่ได้ ต้องทำเป็นกลุ่ม ต้องรวมกลุ่มเป็นสหภาพแรงงาน ซึ่งผู้หญิงร่วมเป็นผู้นำได้ จนนำไปสู่ขั้นต่อ ๆ ไป และพิสูจน์ว่า พลังของแรงงานหญิงนั้นเปลี่ยนแปลงสังคมได้ ดังเช่น กรณีประกันสังคมและลาคลอด 90 วัน”
“จะเห็นว่า ขบวนการแรงงานหญิงเริ่มจากจุดเล็ก ๆ แล้วขยายไปสู่จุดนั้น เรียกได้ว่าเป็นการคุณภาพไปสู่ประมาณ เริ่มจากคนไม่กี่คนที่ตกผลึกทางความคิด เชื่อว่าผู้หญิงเปลี่ยนแปลงชีวิตตัวเองได้ หลังจากนั้นก็นำไปสู่ปริมาณ คือขยายเครือข่ายใหญ่ขึ้น จนเกิดพลังในการเรียกร้อง ต่อสู้ แก้ปัญหาได้สำเร็จ”
จะเด็จ ยังมีข้อสังเกตต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในการเสริมสร้างพลังให้แก่ขบวนการแรงงานหญิงด้วยวิธีการตามขั้นตอนที่นำเสนอนี้อีก 2 ประเด็น ดังนี้
✤ ประเด็นแรก การเสริมสร้างพลังจนเกิดความเปลี่ยนแปลงจากภายใน ได้นำไปสู่ความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงอย่างมั่นคงและยั่งยืน ดังเห็นได้จากกลุ่มแรงงานหญิงที่เข้าร่วมในการก่อตั้งกองทุนสุขภาพ รวมถึง การต่อสู้กรณีผลักดันกฎหมายประกันสังคม และกฎหมายลาคลอด 90 วัน ที่กลายเป็นกลุ่มพลังหลัก และ “สู้ไม่ถอย” จนถึงเส้นชัย
✤ ประเด็นที่สอง ในกระบวนการเสริมสร้างพลังเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนนี้ กลุ่มผู้ด้อยโอกาสหรือกลุ่มเป้าหมายในการพัฒนาไม่อาจขับเคลื่อนไปได้ด้วยตนเองโดยสมบูรณ์ เพราะขาดทักษะและความรู้ในการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาให้มีมิติรอบด้าน แหลมคม จึงจำเป็นต้องมีนักพัฒนา หรือ “ปัญญาชน” เข้าร่วมในลักษณะ “เคียงบ่าเคียงไหล่” นั่นคือ ไม่ช่วงชิงการนำ หรือ “ชี้นำ” ทิศทาง ตลอดจนประเด็นข้อเรียกร้องที่ไม่ได้มาจากฐานความต้องการหรือปัญหาของเขาเอง
ช่วงที่ 2 การช่วยเหลือแรงงานหญิงที่ได้รับผลกระทบจากการทำงาน
นับตั้งแต่ปี 2531 เป็นต้นมา ประเทศไทยเริ่มแสดงสัญญาณแห่งความทะเยอะทะยานในการมุ่งไปสู่การเป็น“เสือเศรษฐกิจตัวที่ห้า” ของภูมิภาค ถัดจากเกาหลีใต้ ไต้หวัน สิงคโปร์ และฮ่องกง ในฐานะ “ประเทศอุตสาหกรรมใหม่” หรือที่เรียกกันติดปากในยุคนั้นว่า “นิคส์” (Newly Industrialized Countries-NICs) โดยทั้งภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และการลงทุน ล้วนขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจน
การพัฒนาประเทศบนทิศทางดังกล่าวได้สร้างแรงดึงดูดทั้งด้วยพลังทางเศรษฐกิจและสังคม ส่งผลให้หนุ่มสาวจำนวนมากละทิ้งไร่นา ปรับเปลี่ยนสถานะมาเป็น “แรงงาน” ในภาคอุตสาหกรรมมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จนเริ่มมีการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมขึ้นในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศ
อย่างไรก็ตาม สังคมไทยในขณะนั้นยังขาดความรู้เท่าทันพอที่จะสำเหนียกต่อความเสี่ยง สัญญาณอันตราตลอดจนความสามารถในการจัดการกับผลกระทบต่าง ๆ ที่จะเกิดตามมาจากสภาพความเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมอุตสาหกรรม
เฉพาะในส่วนของกลุ่มแรงงานหญิง ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของอุตสาหกรรมหลักที่เฟื่องฟูหลายประเภท เป็นกลุ่มที่ตกอยู่ภายใต้ปัญหาที่ซับซ้อนเป็นพิเศษ ดังที่ จะเด็จ ได้สรุปไว้ว่า เป็น “สภาพการถูกกดทับ 4 ระดับ”
จะเด็จ สรุปแนวคิดที่นำไปสู่ทางออกต่อปัญหานี้ว่า “ในสภาพที่ถูกเอาเปรียบถึง 4 ระดับเช่นนี้ การจะแก้โจทย์ได้ ต้องเปลี่ยนตัวผู้ได้รับผลกระทบให้เขาทะลุออกไปจากมิติเหล่านี้ให้ได้ ซึ่งจะยากหน่อยในช่วงแรก เพราะเราต้องลงไปหาเขาถึงที่บ้าน ดูแลจนเขาผ่านพ้นปัญหาไปได้ แล้วกลายเป็นแกนนำในการช่วยเหลือ ให้คำแนะนำ และความมั่นใจกับเพื่อนที่มีปัญหาแบบเดียวกัน”
เมื่อประสบการณ์ผ่านพ้นมาจนถึงช่วงเวลาแห่งระลอกที่สอง การกระบวนการ 5 ขั้นตอน ได้ถูกปรับประยุกต์ให้สอดคล้องกับปัญหา และได้ค้นพบแนวทางใหม่ๆ เพิ่มเติม ดังนี้
ช่วงเวลาประมาณ 8 ปี ในการดำเนินโครงการเพื่อลดเหล้าลดความรุนแรงในครอบครัว ตั้งแต่ปี 2545 จนถึงปี 2553 พบว่า ผลความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ดำเนินงานแบ่งได้ 4 ระดับ นับตั้งแต่ ความเปลี่ยนแปลงระดับปัจเจกบุคคลและระดับแกนนำชุมชน ความเปลี่ยนแปลงระดับเครือข่าย ความเปลี่ยนแปลงระดับชุมชน และ ความเปลี่ยนแปลงระดับนโยบาย
จะเด็จ เชื่อมโยงให้เห็นว่า สิ่งที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงนี้ก็คือการปรับประยุกต์กระบวนการพัฒนาที่ก่อรูปจากการทำงานกับขบวนการแรงงานหญิงมานานกว่าหนึ่งทศวรรษ ให้เข้ากับประเด็นการทำงานใหม่ ทว่า มี “แก่น” ของปัญหาเดียวกันนั่นเอง เพียงแต่ปรับเปลี่ยนบริบทไปสู่ชุมชน
“คนที่ติดเหล้ามาก ๆ หรือผู้หญิงที่ถูกกระทำรุนแรง มันมีมิติหนึ่งร่วมกันนั่นคือ ‘ความเป็นมนุษย์’ ถูกทำลายไป ฉะนั้นเราจึงใช้กระบวนการ 5 ขั้นตอนในการกู้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเขากลับคืนมาอย่างแยบยล”
ขณะเดียวกัน ประเด็นการทำงานใหม่ยังมีพื้นฐานเกี่ยวข้องกับรากเหง้าปัญหาเดิมนั่นคือ “ค่านิยมชายเป็นใหญ่” ควบคู่กันอยู่ด้วย
เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า ในโครงสร้างสังคมแบบ “ชายเป็นใหญ่” นี้ ผู้หญิงและผู้ชายถูกสังคมทำให้เชื่อว่าผู้ชายเป็นผู้นำ เป็นชายชาตรีที่แข็งแรง มีอำนาจและคำสั่งเหนือผู้หญิง ขณะที่ผู้หญิงถูกมองว่าเป็นเพศที่อ่อนแอ นุ่มนวล ดังนั้น ผู้ชายจึงเหมาะสมที่จะเป็นผู้นำ เป็นหัวหน้าครอบครัว ผู้หญิงต้องเป็นผู้ตาม หรือ “ช้างเท้าหลัง”
นอกจากนี้ จะเด็จยังชี้ว่า การนำกระบวนการ 5 ขั้นตอน มาใช้กับปัญหาและบริบทนี้ต้องตระหนักว่า เพียงเท่านี้อาจยังไม่พอที่จะแก้ปัญหาให้ถึงจุดเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนได้
“กระบวนการ 5 ขั้นตอน อาจแก้ปัญหาบางเรื่องไม่ได้ทั้งหมด เพราะปัญหาหรือผลกระทบในเรื่องนั้นอาจไม่ได้มีสาเหตุจากโครงสร้างชายเป็นใหญ่อย่างเดียว ในกรณีการทำโครงการฯ นี้ กระบวนการ 5 ขั้นตอน แก้ได้เฉพาะเรื่องระบบชายเป็นใหญ่กับความความรุนแรงในครอบครัว และการกู้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้กลับคืนมาก แต่บางเรื่องมีมิติของความยากจนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ฉะนั้น เราต้องใช้วิธีอื่นเสริมเข้ามาด้วย เช่น อาจต้องมีเรื่องการฝึกอาชีพ เพื่อให้เขามีทางเลือกในการพึ่งพาตนเอง โดยไม่ต้องขึ้นกับผู้ชายตลอดไปรวมอยู่ด้วย”
......
“สิ่งที่อยากชี้ให้เห็นคือ ในการทำงานแต่ละประเด็น เราต้องวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายของเราให้ทะลุทะลวงว่า ปมปัญหามันซ้อนทับกันกี่ชั้น อาจเป็นได้ตั้งแต่ระบบชายเป็นใหญ่ ปัญหาความไม่เป็นธรรมทางสังคม เรื่องของชนชั้น ความยากจน ฯลฯ”
สิ่งเหล่านี้ทำให้ชุมชนได้เรียนรู้ร่วมกันว่า ปัญหาความรุนแรงไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นปัญหาของชุมชนที่ต้องร่วมกันแก้ไข
เมื่อกระบวนการทั้งหมดถูกถักทอเข้าเป็นเนื้อเดียวกันอย่างกลมกลืนและต่อเนื่อง ได้ทำให้หญิงและชายที่เคยเป็นผู้ที่อยู่ในวังวนปัญหาความรุนแรงจากการ “ดื่ม” ในชุมชนนำร่อง มองเห็นศักยภาพของตนเอง และอาสาเข้าร่วมกลุ่มและ เครือข่าย “ผู้หญิงที่ผ่านพ้นปัญหาความรุนแรง” และ “ผู้ชายเลิกเหล้า” ซึ่งเป็นกลุ่มที่จะเป็นกำลังหลักในการสนับสนุนให้เกิดการแก้ไขปัญหาแก่คนอื่น ๆ
และพัฒนาไปสู่การขยายบทเรียน.ให้เกิดการเรียนรู้และปรับเปลี่ยนค่านิยมและพฤติกรรมในระดับชุมชนอย่างยั่งยืน ที่มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลนำไปเป็นแนวทางการขับเคลื่อนในระเวลาต่อมา