แชร์

ชวนทบทวนและถอดรื้อค่านิยม “ชายเป็นใหญ่

อัพเดทล่าสุด: 13 มิ.ย. 2024
373 ผู้เข้าชม

จากบทเรียนที่แกนนำผู้บุกเบิกมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลค้นพบจากการทำงานร่วมกับมูลนิธิเพื่อนหญิง ตั้งแต่ปี 2528 สานต่อด้วยประสบการณ์จากการลดความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กในครอบครัวและชุมชน ที่เกิดจากการดื่มสุรา ทำให้เกิดการตกผลึกทางความคิดว่า ค่านิยม “ชายเป็นใหญ่” คือหนึ่งในรากเหง้าของอุดมการณ์ที่มีอิทธิพลอยู่เบื้องหลังปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กในครอบครัวและชุมชน

ด้วยเหตุนี้ การชวนให้สังคมตั้งคำถามต่อค่านิยมที่อยู่เบื้องหลังทุกขภาวะ ทั้งทางกายและใจในเรื่องนี้จึงเป็นหนึ่งในหลักการสำคัญเบื้องหลังการทำงานของมูลนิธิฯ ตลอดมา

✤ จะเด็จ ได้ขยายความถึงเรื่องนี้ว่า “วิธีคิดแบบชายเป็นใหญ่นี้ผ่านการหล่อหลอมจากระบบครอบครัว ที่สอนว่า ผู้ชายต้องเหนือกว่าผู้หญิง จากนั้น ระบบต่าง ๆ ในสังคมจะเข้ามาตอกย้ำ ทั้งระบบการศึกษา ศาสนา การเมือง และสื่อมวลชน มันจึงเป็นโครงสร้างเชิงอำนาจที่ฝังลึก แต่เราไม่สามารถไปแก้ปัญหาให้กับผู้หญิงทุกชนชั้นได้ เราจึงให้น้ำหนักไปที่แรงงานหญิง ซึ่งเป็นคนยากคนจน และถูกเปรียบลึกกว่าผู้หญิงที่เป็นชนชั้นกลาง 4 ชั้น คือ ด้านการศึกษา ด้านบทบาทในครอบครัว โอกาสการทำงาน ที่ก้าวหน้าน้อยกว่าผู้ชาย ซ้ำยังมีโอกาสถูกคุกคามทางเพศด้วย และการมีโอกาสเลือกนโยบายที่จะเป็นประโยชน์กับผู้หญิง ซึ่งรัฐ หรือผู้นำในสังคม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ชายละเลยมาโดยตลอด แม้กระทั่งในโรงงาน เมื่อก่อนก็เลือกแต่ผู้นำชาย”

✤ รูปธรรมที่ชัดเจนมาก สะท้อนผ่านการวิจัยในระยะบุกเบิกของการทำงานลดเหล้าลดความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กในครอบครัวและชุมชน ซึ่งเป็นการทำงานในยุคที่จะเด็จยังทำงานที่ มูลนิธิเพื่อนหญิง ในบทบาทผู้จัดการมูลนิธิ

✤ งานวิจัยชิ้นนี้ คือ “ผลกระทบของสุราในฐานะปัจจัยร่วมการเกิดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว” ที่มี รศ.ดร.บุญเสริม หุตะแพทย์ สาขามนุษยนิเวศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เป็นหัวหน้าโครงการ ทำร่วมกับเครือข่ายผู้หญิง 4 พื้นที่ ในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ

✤ จากการเก็บข้อมูลสถานการณ์ในพื้นที่ ทำให้พบว่า ร้อยละ 70-80 ของผู้ชายที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีประสบการณ์ใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก โดยการทุบตี ทำร้าย ข่มขืนกระทำชำเราบุคคลในครอบครัวและผู้อื่น นอกจากนี้ ยังมีปัญหายกพวกตีกัน พูดจาหยาบคาย เกิดอุบัติเหตุ ยิ่งไปกว่านั้น พฤติกรรมการดื่มในครอบครัวยังทำให้ลูกหลานเลียนแบบ โดยพบว่า เด็กที่เติบโตมาในครอบครัวที่มีการ “ดื่ม” เห็นว่าการดื่มเหล้าเป็นเรื่องปกติ

✤ ข้อมูลที่ได้จากชุมชนยังสะท้อนภาพเบื้องหลังปัญหาความรุนแรงในครอบครัวว่ามีผลมาจาก ค่านิยมสังคมแบบ “ชายเป็นใหญ่” ในมิติของการครองเรือน  ที่มีความเชื่อว่า ผู้ชายเป็นผู้นำของครอบครัว สามีเป็นเจ้าของชีวิตภรรยา สามีจึงมีสิทธิดุว่า ทุบตีทำร้าย หรือบังคับให้มีเพศสัมพันธ์ตามความต้องการของฝ่ายชาย ขณะที่ภรรยาตกอยู่ในภาวะจำยอมและจำนน เนื่องจากเรื่องภายในครอบครัวถูกจัดวางให้เป็นเรื่องส่วนตัว ซึ่งกลไกของรัฐ หรือแม้แต่ญาติพี่น้องและผู้ที่อยู่ใกล้ชิดก็ไม่กล้าเข้าไปช่วยเหลือ ทำให้ผู้หญิงตกอยู่ในภาวะยากลำบาก ไม่กล้าบอกเล่าให้ใครฟัง เพราะมีทัศนคติที่ว่า เป็นเรื่องน่าอับอายและเป็นความบกพร่องของตนเอง ทั้ง ๆ ที่การกระทำความรุนแรงนั้นส่งผลกระทบต่อสุขภาพและจิตใจอย่างยิ่งและมักเป็นไปแบบเรื้อรัง

✤ ปัจจัยอีกส่วนหนึ่งที่ประกอบร่วมอยู่ด้วยก็คือ ค่านิยมและความเชื่อที่ว่า “ผู้ชายตัวจริงต้องดื่มเหล้า เพื่อแสดงออกถึงความเป็นชายชาตรี” อีกทั้งยังเชื่อว่า เหล้าเป็นเครื่องดื่มที่ช่วยสร้างความสนิทสนมกับเพื่อน โดยมองข้ามความเป็นจริงที่ว่า การดื่มเหล้าทำให้ผู้ดื่มขาดสติ ขาดความยับยั้งชั่งใจ และกระทำความรุนแรงต่อผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สมาชิกในครอบครัว ที่เป็นผู้หญิงและเด็ก

✤ ข้อค้นพบจากการศึกษาครั้งนี้ทำให้เกิดความเข้าใจว่า การดื่มสุรา การก่อความรุนแรงต่อผู้หญิง ตลอดจนเยาวชน ครอบครัว และค่านิยม “ชายเป็นใหญ่” ซึ่งเป็นองค์ความรู้สำคัญที่มูลนิธิฯ ใช้เป็นฐานในการขับเคลื่อนงานมายาวนาน มีความสัมพันธ์และส่งผลต่อกันอย่างไร ดังแสดงในภาพต่อไปนี้

✤ การวิจัยครั้งนี้ได้ช่วย “พลิกมุมมองใหม่” ให้กับสังคม เพราะที่ผ่านมา การนำเสนอผลกระทบจาก “การดื่ม” ต่อครอบครัวและสังคมถูกมองผ่านข่าวอาชญากรรมที่นำเสนอทางสื่อมวลชน ทำให้ถูกมองเป็นเรื่องของ “รายบุคคล” เมื่อรับรู้ ได้วิพากษ์วิจารณ์กันแล้วก็จบกันไปรายวัน

แม้ลึก ๆ ผู้เสพข่าวต่างก็รู้ว่า “การดื่ม” นำไปสู่ความรุนแรงและอาชญากรรมได้ แต่ประเด็นนี้ก็ยังดูคลุมเครือ ขาดน้ำหนัก เป็นแค่ “มุมมองและความเชื่อส่วนบุคคล” แต่ข้อมูลการวิจัยที่มูลนิธิเพื่อนหญิงทำในครั้งนี้ได้ช่วยยกระดับให้ประเด็นนี้ถูกมองด้วยแง่มุมใหม่ว่าปัญหาจากการดื่มไม่ได้เป็นแค่ปัญหาระดับปัจเจก แต่ส่งผลกระทบไปถึงชุมชน โดยมีค่านิยมเรื่อง “ชายเป็นใหญ่” สนับสนุนอยู่เบื้องหลังการลงมือก่อความรุนแรงที่เกิดจากคนดื่มสุราต่อผู้หญิง และครอบครัว

นอกจากนี้ การรุกกลับไปเก็บข้อมูลจากชุมชน ซึ่งเป็น “ต้นทาง” ของปัญหา ทำให้เห็นว่าปัญหาเรื่องนี้มี “ขนาด” ใหญ่เพียงไร อีกทั้งยังมีเหตุปัจจัยที่เป็นแบบแผน แต่ที่ผ่านมาไม่มีหน่วยงานใดเข้าไปแทรกแซงเพื่อป้องกันหรือคลี่คลายให้ปัญหาบรรเทาเบาบางลงถึงต้นเหตุ

ที่ผ่านมา งานของมูลนิธิฯ หลายชิ้นทำให้เกิดกระแสสังคมที่ให้ความสนใจทบทวนและพูดถึงเรื่องของ “ค่านิยมชายเป็นใหญ่” อย่างเข้มข้นและกว้างขวาง อย่างเช่น แคมเปญรณรงค์ “บ้านไม่ใช่เวทีมวย” “Don’t tell me how to dress”  “งานบ้านเป็นของทุกคน ทำได้ทุกเพศ” (HouseworkChallenge)  


บทความที่เกี่ยวข้อง
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy