share

พัฒนาการ

Last updated: 12 Sep 2023
234 Views
พัฒนาการ

เหตุการณ์สำคัญของมูลนิธิหญิงชาวก้าวไกลในช่วงทศวรรษแรก

2554

มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เริ่มดำเนินกิจกรรม พ.ศ.2554 โดยมีกิจกรรมแบ่งเป็น 4 ด้าน คือ

  1. การส่งเสริมการมีส่วนร่วมระหว่างหญิงชาย โดยใช้กลไกการฟื้นฟูผู้ชายที่กระทำความรุนแรง และผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรง รวมถึงส่งเสริมให้มีส่วนร่วมในการแก้ไขและป้องกันปัญหาทั้งที่เกิดจากอคติทางเพศและเกิดจากปัจจัยแวดล้อม เช่น จากการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ การเสพสื่อที่มีความรุนแรงหรือมีอคติทางเพศ

  2. การปรับเปลี่ยนทัศนคติแบบชายเป็นใหญ่ พัฒนาองค์ความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากการทำงาน เพื่อรณรงค์สร้างความเข้าใจ ความตระหนักรู้ นำไปสู่การปรับเปลี่ยนทัศนคติแบบชายเป็นใหญ่ ทั้งในระดับบุคคล ชุมชน และสังคม

  3. การป้องกันและแก้ไขความรุนแรงต่อผู้หญิงและผู้ชาย ร่วมพัฒนาเครือข่ายชุมชน กลไกสหวิชาชีพ บูรณาการปัญหาความรุนแรงทั้งต่อผู้หญิงและผู้ชาย

  4. การผลักดันนโยบายที่เกี่ยวข้อง เช่น การสนับสนุนเครือข่ายต่าง ๆ ให้มีส่วนร่วมในการผลักดันนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาความรุนแรงที่เกิดจากอคติทางเพศ

2555

✤ จัดแคมเปญรณรงค์วันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากลเป็นครั้งแรกของมูลนิธิฯ ใช้ชื่อว่า "รู้สิทธิ รู้ใช้" เพื่อให้ผู้ถูกกระทำความรุนแรงได้รู้จักสิทธิของตัวเอง ตามกฎหมายคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว รู้ว่ามีช่องทางช่วยเหลือและพร้อมที่จะใช้กฎหมาย เพื่อหยุดความรุนแรง ปกป้องตัวเองและแก้ปัญหาอย่างมีสติ มีการจัดพิมพ์ "คู่มือ รู้สิทธิ รู้ใช้ สำหรับผู้ถูกกระทำความรุนแรง" เผยแพร่ให้ประชาชนนำไปใช้ประโยชน์

✤ มูลนิธิฯ ร่วมมือกับภาคีเครือข่าย เช่น เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ มูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา เครือข่ายเยาวชนสกัดกั้นนักดื่มหน้าใหม่ เครือข่ายเฝ้าระวังแอลกอฮอล์กรุงเทพมหานคร ผลักดันกฎหมายได้สำเร็จโดยมีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องกำหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามบริโภคบนทาง และเรื่องห้ามขายหรือห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่ประกอบกิจการ ภายใต้พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 และยังคงมีผลบังคับใช้จนมาถึงปัจจุบัน

2556

✤ มูลนิธิฯ จัดแคมเปญรณรงค์หยุดทำร้ายผู้หญิง ที่เป็นความร่วมมือกันระหว่างมูลนิธิกับภาคธุรกิจเป็นครั้งแรก โดยร่วมมือกับนิตยสารชั้นนำ Marie Claire บริษัท เอเจนซี่ชื่อดัง BBDO Bangkok  โดยให้อาสาสมัคร 7 นักแสดง และนางแบบชื่อดังที่มีผู้ติดตามจำนวนมาก ทำสัญลักษณ์ใต้ตา โดยใช้เครื่องสำอางหรือลิปสติกใด ๆ ก็ได้ ถ่ายรูปและอัพขึ้นอินสตาแกรม อัพโหลดในโซเชียลเน็ตเวิร์คของตนเอง พร้อมติดแฮชแท็ก #WomenAgainstAbuse ในวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล

✤ จัดแคมเปญรณรงค์ "วันสงกรานต์ปลอดการคุกคามทางเพศ" ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยร่วมกับเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ ศูนย์ฝึกและอบรมเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก จัดกิจกรรมภายใต้ชื่อแคมเปญ "สาด…ไม่แต๊ะอั๋ง…แมนโคตร ๆ" มีสื่อมวลชนให้ความสนใจทำข่าวและเผยแพร่กิจกรรมผ่านหลายช่องทาง และยังมีการทำกิจกรรมนี้มาอย่างต่อเนื่อง

✤ มูลนิธิฯ ยกระดับการทำงานในชุมชน ในการลดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ลดความรุนแรงในครอบครัว ที่นำไปสู่ความการแก้ไขปัญหาทุกมิติ เช่น ปัญหาความยากจน ปัญหาสุขภาพ ปัญหาอาชีพ เป็นต้น จึงเป็นจุดเริ่มต้นการเกิดงานบูรณาการการทำงานร่วมกับมูลนิธิชีววิถี (Bio Thai) เพื่อพัฒนาชุมชนนำร่องลดเหล้าลดความรุนแรง ไปสู่ชุมชนเกษตรอินทรีย์ และสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนอย่างยั่งยืน


 

2557

✤ ร่วมกับเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ ผลักดันให้เกิดกฎหมายห้ามขายห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนรถไฟและสถานีรถไฟเพื่อป้องกันปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นสำคัญให้เกิดการข่มขืน คุกคามทางเพศ ทะเลาะวิวาท อุบัติเหตุและอาชญากรรมบนรถไฟ ซึ่งช่วงนั้นมีกรณีเด็กหญิงวัย 13 ปี ถูกฆ่าข่มขืนบนรถไฟ โดยผู้ก่อเหตุรับสารภาพว่าดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนก่อเหตุ จนต่อมาในปี 2558 ได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องกำหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามขายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทางรถไฟ และยังคงมีผลบังคับใช้มาถึงปัจจุบัน

2558

✤ สนับสนุนพื้นที่นำร่องจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ได้แก่

  1. ชุมชนบ้านคำกลาง จัดตั้งศูนย์ประสานงานการช่วยเหลือป้องกันเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว บ้านคำกลาง ตำบลโนนหนามแท่ง จังหวัดอำนาจเจริญ

  2. ชุมชนลานทราย (ไทยเกรียง) จัดตั้งสมาคมส่งเสริมสิทธิชุมชนเพื่อการพัฒนา ตำบลพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ

  3. เครือข่ายชุมพร จัดตั้งมูลนิธิเพื่อเด็กและสตรี จังหวัดชุมพร

  4. ชุมชนฟ้าใหม่ จัดตั้งสมาคมส่งเสริมสิทธิเพื่อการพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

เพื่อเป็นพื้นที่ในการช่วยเหลือ เยียวยา ฟื้นฟู ป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรง โดยมีกลุ่มแกนนำผู้ชายเลิกเหล้า กลุ่มผู้หญิงที่ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัว (แนบแผ่นพับศูนย์ชุมชน-ขอจาก มญช.)

2559

✤ รณรงค์ "คุณทำได้ ผู้ชายตัวจริง ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก" (Man Can Do Stop Violence) เป็นกิจกรรมจำลองสถานการณ์ให้ผู้ชายเป็นฝ่ายถูกกระทำ ถูกทำร้ายร่างกาย ถูกให้เลี้ยงดูลูกที่เป็นทารก เพื่อสื่อให้เข้าใจถึงหัวอกผู้หญิงที่ต้องเลี้ยงดูลูกและยังต้องเป็นผู้ถูกกระทำในสังคมชายเป็นใหญ่ รวมถึงเมื่อดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็ยิ่งเพิ่มความรุนแรงในครอบครัว​มากขึ้นหลายเท่า

2560

✤ รณรงค์ "บ้าน…ไม่ใช่เวทีมวย" โดยร่วมมือกับ บริษัท เจ.วอลเตอร์ ธอมสัน ประเทศไทย จัดทำคลิปรณรงค์ชุด 'Home is not a boxing ring – บ้าน…ไม่ใช่เวทีมวย' โดยในคลิปให้อาสาสมัครที่เคยถูกสามีทำร้ายจริง ๆ มาแต่งหน้าให้คล้ายกับวันที่ถูกทำร้าย พร้อมกับมาชูป้ายข้อความรณรงค์ "บ้าน…ไม่ใช่เวทีมวย" #ผู้ชายไม่ทำร้ายผู้หญิง ในเวทีชกมวยจริง ซึ่งคลิปนี้ได้รับรางวัล Bronze จากหมวด Media Lions จากเทศกาลโฆษณาระดับโลกเมืองคานส์ 2018 สามารถสร้างมูลค่าจากการนำเสนอของสื่อต่าง ๆ คิดเป็นตัวเลขกว่า 19 ล้านบาท ที่สำคัญคือ หลังจากคลิปนี้ถูกเผยแพร่ออกไป ทำให้หญิงสาวหลายสิบคนกล้าลุกขึ้นมาทวงคืนสิทธิและเดินเข้ามาขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิเพื่อหาทางแก้ไขปัญหา ไม่ยอมตกเป็นเหยื่อความรุนแรงอีกต่อไป

✤ ร่วมกับเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุราคัดค้านการขายเบียร์สดในร้านสะดวกซื้อ เพื่อปกป้องเด็ก เยาวชน และผู้หญิงจากภัยแอลกอฮอล์ กระทั่งปี 2561 รัฐบาลได้ออกอนุบัญญัติควบคุมการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 เรื่องกำหนดวิธีการหรือลักษณะห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยวิธีการใช้เครื่องจ่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในสถานที่หรือบริเวณร้านค้าสะดวกซื้อ พ.ศ. 2561 เพื่อควบคุมไม่ให้จำหน่ายเบียร์สดในร้านสะดวกซื้อ

2561

✤ จัดแคมเปญรณรงค์ Don’t tell me how to dress โดยร่วมมือกับ คุณซินดี้ (สิรินยา บิชอพ) รณรงค์ติดแฮชแท็ก #Donttellmehowtodress ในสื่อโซเชียล และจัดนิทรรศการพลังสังคมหยุดคุกคามทางเพศ นำเสื้อผ้าจริงของเหยื่อที่สวมใส่ในวันถูกกระทำความรุนแรงมาแสดง เพื่อสร้างการรับรู้ใหม่ว่าการแต่งกายล่อแหลมไม่ได้เป็นเหตุให้ถูกคุกคามทางเพศ ในวันที่ 25 มิ.ย. - 1 ก.ค. ณ Fashion Hall ชั้น 1 ศูนย์การค้าสยามพารากอน และวันที่ 4 - 15 ก.ค. ณ ชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร โดยได้รับการสนับสนุนจาก องค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ และเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ (UN Women) สถานทูตแคนาดาประจำประเทศไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) บริษัท ดู ดิด ดัน จำกัด เป็นกิจกรรมที่ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศมาร่วมทำข่าว และนับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในงานสื่อสารของมูลนิธิที่สามารถขยายกลุ่มเป้าหมายไปยังคนชั้นกลางได้รับรู้และร่วมรณรงค์ลดความรุนแรงในผู้หญิงมากขึ้น

2562

✤ ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เครือข่ายองค์กรงดเหล้า จัดแคมเปญรณรงค์ "สงกรานต์ปลอดภัย ปลอดเหล้า เคารพสิทธิ" (Safe Sober Respectful Songkran) เพื่อสร้างความตระหนักถึงปัญหาการคุกคามทางเพศว่า เป็นเรื่องผิดกฎหมาย รวมถึงการสร้างความเข้าใจในการเคารพให้เกียรติในสิทธิเนื้อตัวร่างกายของผู้อื่น ไม่ใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ เพื่อให้สตรีได้รับการคุ้มครอง เฝ้าระวังจากการคุกคามทางเพศให้ปลอดภัยในทุกพื้นที่

✤ จัดกิจกรรมเนื่องในวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล ภายใต้แนวคิด "งานบ้านเป็นหน้าที่ของทุกคน ทำได้ทุกเพศ" พร้อมเชิญชวนให้ผู้ชายโพสต์รูปทำงานบ้านติดแฮกแท็ก #Houseworkchallenge #งานบ้านเป็นของทุกคนทำได้ทุกเพศ เพื่อสร้างกระแสเชิญชวนผู้ชายช่วยทำงานบ้านในการแบ่งเบาภาระผู้หญิงแต่ฝ่ายเดียว และลดช่องว่างสร้างความเข้าใจที่ดีในครอบครัวและชีวิตคู่ พร้อมทั้งยื่นข้อเสนอต่อ นางมุกดา พงษ์สมบัติ ประธานคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร ผ่านนายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ รองประธานคณะกรรมาธิการกิจการเด็กฯ เพื่อขอให้ผลักดันการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว พร้อมทั้งศึกษาเนื้อหาการเรียนการสอนที่ยังเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาความเสมอภาคระหว่างเพศ

2563

✤ ร่วมกับกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) จัดทำคู่มือ "การสร้างและพัฒนาพื้นที่ปลอดภัยทางสังคมโดยชุมชน" เพื่อเป็นแนวทางในการลดปัญหาความรุนแรง สร้างพื้นที่ปลอดภัยในครอบครัวสำหรับเด็กและสตรีในพื้นที่ชุมชน

✤ จัดเวทีเสวนา "ตีแผ่ความจริง เมื่อคนพิการถูกล่วงละเมิดทางเพศ" และเปิดตัวหนังสือ "บาดแผลของดอกไม้" โดยอรสม สุทธิสาคร ซึ่งสะท้อนปัญหาของคนพิการที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ที่เกิดขึ้นในสังคม เพื่อให้เกิดความสนใจและตระหนักในปัญหา นำไปสู่แนวทางการป้องกันแก้ปัญหา โดยมีกระบวนการและกลไกตามกฎหมายในการพิทักษ์สิทธิ 

2564

✤ ร่วมมือกับ วันเดอร์แมน ธอมสัน ประเทศไทย และ สสส. จัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล ภายใต้แนวคิด "ความรุนแรงในบ้าน ให้มันจบที่ครั้งแรก" และได้เปิดตัวพิพิธภัณฑ์ "Museum of First Time" พร้อม #ให้มันจบที่ครั้งแรก ที่สร้างจากเรื่องจริงของผู้ที่ถูกทำร้ายร่างกายซ้ำ ๆ ในรูปแบบออนไลน์เป็นครั้งแรกของประเทศไทย

✤ ร่วมมือกับสมาชิกเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน และตัวแทนครอบครัวแรงงาน ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 พื้นที่จังหวัดสมุทรปราการและจังหวัดปทุมธานี ศึกษาสถานการณ์หญิงท้องติดโควิด-19 เสียชีวิตมากขึ้น อีกทั้งถูกปฏิเสธการทำคลอด การรักษา และการเข้าถึงวัคซีนยังมีน้อย จัดเสวนาออนไลน์ "ท้อง-คลอดใน วิกฤตโควิด ชะตากรรมแรงงาน" และยื่นหนังสือต่อ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จึงมีประกาศขอความร่วมมือไปยังสถานประกอบการให้สตรีที่มีผลตรวจว่าตั้งครรภ์ควรกำหนดให้มีการทำงานที่บ้าน (Work From Home) โดยให้จ่ายค่าแรงเต็มจำนวนเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด -19 และเครือข่ายได้ยื่นหนังสือต่อกระทรวงสาธารณสุข รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) มีนโยบายให้สถานพยาบาลต้องให้การรักษา ปฏิเสธไม่ได้ หากเกินศักยภาพต้องดูแลประสานส่งต่อ กรณีหญิงตั้งครรภ์ที่ติดโควิด -19 หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุก 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ร่วมถึงห้ามสถานพยาบาลเรียกเก็บค่ารักษาหากเกิดกรณีนี้

✤ ร่วมกับมูลนิธิเด็ก เยาวชน และครอบครัว ภาคีเครือข่ายเดินรณรงค์ยื่นหนังสือต่อกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และสำนักงานคณะกรรมกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้เร่งหาทางแก้ไขกรณีมีการนำเสนอฉากละครเรื่อง "เมียจำเป็น" ที่ไม่เหมาะสมทั้งเนื้อหาและภาพที่มีประเด็นการคุกคามทางเพศ เพื่อป้องกันการผลิตซ้ำมายาคติผิด ๆ ต่อการข่มขืน ความรุนแรงทางเพศ และตอกย้ำความคิดแบบชายเป็นใหญ่ เป็นอุปสรรคต่อความเสมอภาคระหว่างเพศ มีการจัดเสวนาเนื่องในโอกาส 8 มีนาคม วันสตรีสากลหัวข้อ "หยุดฉากข่มขืนผ่านจอ หยุดผลิตซ้ำความรุนแรงในสังคมไทย" และจากการยื่นหนังสือได้มีการตั้งคณะกรรมการ รวมถึงการบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่องการกำกับดูแลการนำเสนอเนื้อหารายการบนหลักสิทธิพื้นฐานของเด็กและเยาวชน สตรี คนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาสและผู้มีความหลากหลายทางเพศ ในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ โดยความร่วมมือ 5 หน่วยงาน คือ

  1. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)

  2. กระทรวงวัฒนธรรม

  3. สำนักงานคณะกรรมกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

  4. ศูนย์คุณธรรม

  5. สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์

✤ ร่วมกับเครือข่าย 92 องค์กร เครือข่ายผู้ปกครอง เครือข่ายเด็กและเยาวชน ยื่นจดหมายต่อรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กรณีครู 5 คน และรุ่นพี่ 2 คน ข่มขืนนักเรียนหญิง จังหวัด มุกดาหาร และกรณีครูแชทลวงนักเรียนมาทำอนาจารในจังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อให้กระทรวงฯ เร่งออกมาตรการป้องกันและแก้ไขความรุนแรงทางเพศในโรงเรียนอย่างเป็นระบบ และเครือข่ายได้นำรายชื่อผู้สนับสนุนข้อเรียกร้องผ่านเว็บไซต์ Change.Org จำนวน 1 หมื่นรายชื่อมอบให้กระทรวงฯ นอกจากนี้ ได้มีการจัดเวทีออนไลน์ภายใต้ชื่อ "สถานศึกษากับปัญหาคุกคามทางเพศ"

บทความที่เกี่ยวข้อง
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy