แชร์

แคมเปญรณรงค์ Don’t tell me how to dress

อัพเดทล่าสุด: 13 มิ.ย. 2024
409 ผู้เข้าชม
แคมเปญรณรงค์ Don’t tell me how to dress

จากกิจกรรมสร้างกระแสสังคมที่มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลดำเนินการมา หนึ่งในกรณีศึกษาที่น่าสนใจ คือ นิทรรศการพลังสังคมหยุดคุกคามทางเพศภายใต้แนวคิด “ชุดที่ใส่ในวันที่ถูกคุกคามทางเพศ” #Dont tell me how to dress ที่จัดขึ้นเมื่อปี 2561

กิจกรรมนี้เกิดขึ้นจากกรณี คุณซินดี้-สิริยา บิชอพ นางแบบและนักแสดงชื่อดัง ออกมาโพสต์คลิปผ่านอิสตราแกรมส่วนตัว แสดงความไม่เห็นด้วยกับคำแนะนำของเจ้าหน้าที่รัฐ (กทม.) ที่ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า ผู้หญิงควรแต่งตัวให้มิดชิดก่อนไปเที่ยวงานสงกรานต์ เพื่อป้องกันการถูกผู้ชายลวนลาม เพราะตนเองก็เป็นคนหนึ่งที่เคยถูกผู้ชายลวนลามตอนไปเที่ยวงานสงกรานต์ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้แต่งตัวโป๊หรือเซ็กซี่

ทีมงานมูลนิธิฯ จึงได้หารือกันและเห็นว่าควรใช้โอกาสนี้ชักชวนคุณซินดี้มาร่วมรณรงค์สงกรานต์ปลอดการคุกคามทางเพศ เพราะเห็นว่ามีทัศนคติที่ตรงกันในเรื่องนี้ โดยขอให้นักข่าว (คุณปอเปี๊ยะ) ที่รู้จักสนิทสนมกันดีช่วยหาช่องทางติดต่อให้ กระทั่งคุณซินดี้ตอบรับและเข้ามาร่วมกิจกรรมเสวนา “ข่มขืนลวนลามคุกคาม ทางเพศเพราะชุดที่ใส่จริงหรือ?” จัดขึ้นเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2561 ณ  โรงแรมเอเชีย มีการถ่ายทอดสดผ่าน Facebook Fanpage ของมูลนิธิฯ ด้วย

ในเวทีเสวนาทีมงานได้นำชุดที่ใส่ในวันถูกข่มขืนที่ขอมาจากเคสจริงมาจัดแสดงเป็นนิทรรศการเล็ก ๆ ชื่อว่า “ชุดที่ใส่...ในวันที่ถูกลวนลามคุกคามทางเพศ” เพื่อสื่อให้เห็นว่าแต่ละชุดที่ผู้ถูกกระทำสวมใส่ก็เป็นชุดธรรมดาทั่วไป ฉะนั้นใส่ชุดแบบไหนก็ตกเป็นเหยื่อได้เหมือนกัน โดยการจัดนิทรรศการครั้งนั้นได้แนวคิดมาจากต่างประเทศ ทว่าชุดที่ต่างประเทศนำมาจัดแสดงเป็นของจำลองส่วนที่ มญช. นำมาจัดเป็นของจริงที่ได้รับอนุญาตจากเคสที่ถูกกระทำจริงให้นำมาจัดแสดง

กระบวนการทำงาน ตั้งแต่เริ่มหารือกันติดต่อประสานงานกับคุณซินดีจนกระทั่งจัดเวทีเสวนาดังกล่าว ใช้เวลาดำเนินการเพียงไม่กี่วันเพราะเป็นช่วงที่กำลังมีกระแสความสนใจจากสังคม มูลนิธิฯ จึงต้องรีบฉกฉวยโอกาสนี้ในการทำงานให้ทันกับสถานการณ์ แล้วก็ได้ผล เพราะนอกจากประเด็นการเสวนาจะได้รับความสนใจ จากสื่อมวลชนมากมายมาร่วมทำข่าวแล้ว ยังมีประชาชนจากกลุ่มอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากภาคีเครือข่ายของมูลนิธิฯ ให้ความสนใจรับชมการเสวนา และมีบางรายติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากมูลนิธิฯ ด้วย

ผลจากการจัดเวทีเสวนาโดยมีคุณซินดี้เข้ามาช่วยเป็นกระบอกเสียงให้ ทำให้มีการพูดถึงประเด็นสิทธิ์การแต่งตัวของผู้หญิงอย่างกว้างขวางในสังคมมากขึ้น ด้านคุณซินดี้ก็ให้ความสนใจในประเด็นนี้อย่างจริงจัง ได้ริเริ่มรณรงค์ติดแฮชแท็ก #Donttellmehowtodress และเสนอแนวคิดให้นำนิทรรศการ “ชุดที่ใส่ในวันที่ถูกคุกคามทางเพศ” ออกไปจัดแสดงในพื้นที่สาธารณะ ให้มีรูปแบบที่น่าสนใจมากขึ้น

โดยคุณซินดี้ได้ช่วยติดต่อประสานงานสถานที่จัดแสดงที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน เชิญชวนเพื่อนดารานักแสดงและผู้มีชื่อเสียงในวงการบันเทิงมาเป็น Speaker สื่อสารประเด็นเกี่ยวกับการถูกล่วงละเมิด และถูกคุกคามทางเพศผ่านคลิปวิดิโอและภาพถ่าย โดยฝีมือช่างภาพแฟชั่นผู้มีชื่อเสียงระดับประเทศและนำมาจัดแสดงเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ ควบคู่กับการจัดแสดงชุดที่ใส่ในวันถูกคุกคามทางเพศ

......

จากนิทรรศการเล็ก ๆ ในห้องประชุมจึงพัฒนาเป็น นิทรรศการพลังสังคมหยุดคุกคามทางเพศภายใต้แนวคิด “ชุดที่ใส่ในวันที่ถูกคุกคามทางเพศ” #Donttellmehowtodress จัดขึ้น ณ  FashionHall ชั้น 1 ศูนย์การค้าสยามพารากอน (25 มิ.ย. – 1 ก.ค. 61) และ ชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร (4-15 ก.ค. 61) ภายใต้ความร่วมมือของหลายภาคส่วน ได้แก่ คุณซินดี้ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล องค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ (UN Women) สถานทูตแคนาดา ประจำประเทศไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ บริษัท ดูดิดดัน จำกัด

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังจากการจัดนิทรรศการพลังสังคมฯ ส่งผลให้ประเด็นสิทธิในการแต่งตัวของผู้หญิงกับการคุกคามทางเพศถูกพูดถึงในสังคมวงกว้างมากขึ้น และคุณซินดี้ก็ยังเข้ามาร่วมรณรงค์กับมูลนิธิฯ อย่างต่อเนื่อง ทั้งในช่วงเทศกาลสงกรานต์และวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล

การร่วมมือกับคุณซินดี้จัดนิทรรศการนี้ขึ้นมา เป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของมูลนิธิฯ ที่ทำให้มีโอกาสได้สื่อสารประเด็นผู้หญิงกับความรุนแรงไปสู่กลุ่มคนใหม่ ๆ (คนในเมือง/กลุ่มคนชั้นกลาง-สูง) เพราะที่ผ่านมา มูลนิธิฯ เน้นทำงานกันคนในชุมชนและผู้ใช้แรงงานมากกว่า ซึ่งเชื่อว่าหากประชาชนในกลุ่มต่าง ๆ ไม่ว่าจะชนชั้นไหน สถานะใด มีความตระหนักรู้ถึงปัญหาผู้หญิงกับความรุนแรงมากขึ้นย่อมทำให้เกิดแนวร่วมในการรณรงค์ เพื่อป้องกันแก้ไขปัญหานี้มากยิ่งขึ้นด้วยเช่นกัน

บทความที่เกี่ยวข้อง
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy