สนับสนุนการพัฒนาองค์กรชุมชน
คำถามต่อทิศทางการทำงานพัฒนาสังคมให้เกิดผลจริงและเกิดผลกระทบกว้างไกล เป็นประเด็นที่มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลให้ความสำคัญนับแรกก่อตั้ง
ประสบการณ์ที่สั่งสมโดยตรง ทั้งจากการทำงานพัฒนาขบวนการแรงงานหญิง และการทำงานเพื่อลดเหล้า ลดความรุนแรงในชุมชน รวมทั้งแสวงหาความรู้และมุมมองใหม่ ๆ จากการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกับพันธมิตรที่มีความสนใจในเรื่องนี้อย่างจริงจังและผ่านประสบการณ์อันยาวนาน เช่น สามารถ สระกวี, วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ฯลฯ ทำให้มูลนิธิฯ สรุปบทเรียนได้ว่า “การพัฒนาในแนวระนาบ” โดยทำให้ภาคประชาสังคมเข้มแข็งคือทางออกที่ยั่งยืนของการพัฒนาสุขภาวะให้เกิดผลต่อชีวิตของประชาชนได้อย่างยั่งยืน
รูปธรรมของสิ่งที่จะขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาสุขภาวะในแนวระนาบก็คือ การสนับสนุนให้เกิด “องค์กรชุมชน” ที่เป็นของกลุ่มหรือชุมชนอย่างแท้จริง
ดังที่ จะเด็จ เชาวน์วิไล ในฐานะผู้จัดการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล สะท้อนมุมมองในเรื่องนี้ว่า “ในช่วงที่เราลงไปทำงานกับชุมชนนั้น ไม่ได้ทำแต่เรื่องเหล้า แต่ตั้งใจทำให้เกิดองค์กรชาวบ้านที่ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมแก่ตัวเขาเอง ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเรื่องผู้หญิง หรือประเด็นอื่น ๆ ของชุมชน เขาจะต้องขับเคลื่อนเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมรอบตัวเขาด้วยตัวเขาเอง เขาต้องเป็นคนกำหนดปัญหาที่จะแก้ ไม่ใช่เรื่องเหล้าหรือความรุนแรงอย่างเดียว เราไม่สร้างกรอบ อย่างประเด็นสนับสนุนสิทธิผู้หญิงมันก็เชื่อมโยงไปได้หลายเรื่อง ไปที่เรื่องของการพึ่งตนเองด้านอาหารก็ได้”
“เราจะทำให้เกิดขบวนการชาวบ้านที่เห็นศักยภาพของตนเอง และนำไปสู่การกำหนดชีวิตของตนเอง องค์กรพัฒนาต้องสนับสนุนให้เขาไปสู่จุดนั้น ไม่ใช่เป็นนักพัฒนาที่ทำแต่ข้อมูล วิจัย หรือผลักดันนโยบายแบบลอย ๆ...”
การจัดตั้งองค์กรชุมชนเริ่มเกิดขึ้นในช่วงที่ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ได้เข้ามารับผิดชอบโครงการฯ ต่อจากมูลนิธิเพื่อนหญิง โดยแนวคิดนี้มาจากการทบทวนประสบการณ์จนเกิดวิสัยทัศน์ว่า ท้ายที่สุดแล้วถ้าหากต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนทั้งในระดับชุมชน-นโยบาย จะต้องทำให้งานภาคประชาชนมีความเข้มแข็ง โดยการสร้างองค์กรให้เกิดขึ้นในชุมชน จึงได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดกับแกนนำในพื้นที่และเกิดการพัฒนาองค์กรชุมชนขึ้นมาตามความพร้อมของแต่ละแห่ง
ทั้งนี้ “องค์กรชุมชน” ที่เกิดขึ้นในบริบทการทำงานของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลมีองค์ประกอบหลัก ดังนี้
- ให้ความสำคัญกับเรื่องบทบาทหญิงชาย (gender) โดยตระหนักถึงความสำคัญของประเด็นผู้หญิง คือ ใช้ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงเป็นตัวเชื่อมโยงไปสู่การแก้ปัญหา และนำไปสู่การพัฒนาชุมชน/สังคมที่ยั่งยืน
- สร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับชุมชน-นโยบาย โดยไม่ได้มองแค่การแก้ปัญหาเฉพาะประเด็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่มองไปถึงการแก้ปัญหาอย่างเป็นองค์รวม
- อยู่บนฐานของการมีส่วนร่วม และการทำงานเป็นทีม (มีประชาธิปไตยในองค์กร)
- พึ่งตนเองได้ และมีความเป็นอิสระในการทำงาน
- ไม่เน้นการเป็นผู้นำแบบเดิม คือคนที่ขึ้นมาเป็นผู้นำองค์กรไม่จำเป็นต้องดีเพียบพร้อมมาก่อน แต่เป็นคนที่เคยได้รับผลกระทบจากปัญหาและถูกมองในแง่ลบ
ข้อตระหนักที่สำคัญคือ“องค์กรชุมชน” ซึ่งมูลนิธิฯ เห็นว่าเป็นความหวังของการพัฒนาสังคมในยุคใหม่นี้ ไม่อาจมีรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งตายตัว
“คำว่า ‘องค์กรประชาชน’ ผมได้ยินมาตั้งแต่ตอนมาทำงานพัฒนาใหม่ ๆ แต่น่าเสียดายที่ขาดการทำให้เกิดพัฒนาการขึ้นมา หรือมีการลองทำบางรูปแบบแล้วกลับชะงักงัน แต่ขณะเดียวกันก็มีการคิดค้นและทดลองโดยนักพัฒนาในพื้นที่อยู่ด้วย อย่างเช่น กลุ่มออมทรัพย์ ซึ่งพัฒนารูปแบบต่อไปหลาย ๆ ทางนั่นก็ใช่”
“ที่สำคัญคือ เราจะไปจำกัดรูปแบบไม่ได้ พอถึงขั้นหนึ่งชาวบ้านเขาจะคิดเอง และอย่าไปเร่งให้เขาโตไวเกินไป...ถ้าองค์กรชุมชนเติบโต ระบบประชาธิปไตยพื้นฐานจะเข้มแข็งตามมา...” ผู้จัดการมูลนิธิฯ กล่าว
มูลนิธิฯ ตระหนักดีว่า การสนับสนุนให้เกิดแกนนำและชุมชนที่ตื่นรู้จนสามารถพัฒนาศักยภาพไปถึงขั้นที่สามารถกำหนดทิศทางการพัฒนาชุมชนอย่างเป็นตัวของตัวเองนั้น ไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้อย่างง่ายดาย
......
แต่ขณะเดียวกันก็เดินหน้าด้วยความเชื่อมั่นที่มีรากฐานจากความเป็นจริงจากชุมชนที่ร่วมทำงานด้วยกันมา ซึ่งได้พิสูจน์ให้เห็นถึงการเติบโต จากจุดเริ่มต้นด้วยการนำประเด็นผู้หญิงถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรม ด้วยผลกระทบจากสุราเป็นจุดตั้งต้น แต่ได้คลี่คลายและขยายไปสู่ประเด็นอื่น ๆ ที่เป็นปัญหาสุขภาวะของชุมชนในเวลาต่อมา เช่น ปัญหาเศรษฐกิจ ความยากจน สิ่งแวดล้อม ความไม่เป็นธรรม
ดังเรื่องราวของ 2 กรณีศึกษาที่จะนำเสนอต่อไปในส่วนที่ 2 ได้แก่ หมู่บ้านคำกลาง อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ และ สมาคมส่งเสริมสิทธิชุมชนเพื่อการพัฒนา (สชพ.) อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ