share

บ้านคำกลาง จากหมู่บ้านติดลบสู่จุดกำเนิด “ชุมชนเลิกเหล้า” และ “องค์กรชุมชน”

Last updated: 13 Jun 2024
177 Views
บ้านคำกลาง จากหมู่บ้านติดลบสู่จุดกำเนิด “ชุมชนเลิกเหล้า” และ “องค์กรชุมชน”

“บ้านคำกลาง” เป็นชุมชนเก่าแก่แห่งหนึ่งในจังหวัดอำนาจเจริญ ที่ประสบผลสำเร็จในการจัดการปัญหาเรื่องเหล้าและความรุนแรงในครอบครัว และสามารถเชื่อมโยงประเด็นเรื่องเหล้าและความรุนแรงไปสู่การทำงานชุมชนในเรื่องอื่น ๆ ได้ กระทั่งนำมาสู่การริเริ่มจัดตั้งองค์กรชุมชน ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการจดทะเบียนเป็น “สมาคมส่งเสริมคุณธรรมเพื่อการพัฒนา”

เส้นทางการก่อเกิดองค์กรชุมชนของบ้านคำกลางเริ่มจากการเกิดขึ้นของ กลุ่มเพื่อนหญิงอำนาจเจริญ ในปี พ.ศ. 2526 ซึ่งเปรียบเสมือน “เชื้อ” ที่ทำให้เกิดการขยายงานเพื่อแก้ปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กในเวลาต่อมา เมื่อ มูลนิธิเพื่อนหญิง ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ทำการวิจัยเรื่อง “ผลกระทบของสุราในฐานะปัจจัยร่วมการเกิดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว” ปี พ.ศ. 2545 โดยมีจังหวัดอำนาจเจริญเป็น 1 ใน 4 พื้นที่เป้าหมาย

มูลนิธิเพื่อนหญิง ได้ร่วมกับ “กลุ่มเพื่อนหญิงอำนาจเจริญ” เพื่อทำงานวิจัยฯ ดังกล่าว และส่งผลต่อเนื่องไปสู่การทำ “โครงการลด ละ เลิกเหล้า: ลดความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก” โดยการสนับสนุนของ สสส. ผ่านทางมูลนิธิเพื่อนหญิง ทำให้เกิดการจัดตั้ง ศูนย์ประสานการช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กอำนาจเจริญ ขึ้นมาในปี พ.ศ. 2547 เพื่อนำผลการวิจัยไปขยายผล จนเกิดความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนในชุมชนบ้านคำกลาง

ชุมชนบ้านคำกลางได้เห็นข้อเท็จจริงว่า “เหล้า” เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและชุมชน จึงได้ร่วมกันคิดหาวิธีการแก้ไข ทำให้เกิด ศูนย์เรียนรู้ชุมชนลด ละ เลิกเหล้า ลดความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก บ้านคำกลาง ขึ้นมาในช่วงปี พ.ศ. 2550 ก่อนจะพัฒนาเป็น ศูนย์ประสานงานการช่วยเหลือปกป้องเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว บ้านคำกลาง ในปี พ.ศ. 2558

ลักษณะสำคัญที่มูลนิธิเพื่อนหญิงเข้าไปสนับสนุนเป็นขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อกระตุ้นเตือนให้เกิดการปรับเปลี่ยนโดยคนในพื้นที่เอง จุดยุทธศาสตร์สำคัญคือ “การยึดชุมชนเป็นศูนย์กลางของการแสวงหาขบวนการเคลื่อนไหวด้วยตนเอง” เพราะสมาชิกในชุมชนย่อมเข้าใจสภาพการณ์ของชุมชนได้ดีกว่าคนภายนอก โดยที่มูลนิธิฯ ไม่ได้วางตัวเป็น “ผู้รู้” หากแต่ร่วมเรียนรู้และวิเคราะห์ปัญหาไปด้วยกันกับแกนนำในชุมชน มีการทบทวนและประเมินผลทุก ๆ ปีเพื่อปรับเปลี่ยนการทำงานให้เกิดผลมากขึ้น

การดำเนินงานในช่วงปีแรกได้มีการจัดกิจกรรมแบบกระจายไปทั่วทุกหมู่บ้านในตำบลโนนหนามแท่ง เนื่องจากมูลนิธิเพื่อนหญิงและแกนนำในพื้นที่ต่างก็ไม่มีประสบการณ์การทำงานชุมชนมาก่อน กิจกรรมหลักๆ จึงเป็นการรณรงค์ไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ และจัดกลุ่มพูดคุยแลกเปลี่ยน โดยชวนผู้ชายทั้งที่ดื่มเหล้าและไม่ดื่มเหล้ามาคุยกัน ช่วยกันสะท้อนปัญหาออกมา ต่อมาเมื่อโครงการฯ เข้าสู่ปีที่ 2 คณะทำงานเริ่มเห็นว่าการจัดกิจกรรมแบบกระจายไปทั่วทุกหมู่บ้านนั้นไม่สามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อเนื่องได้ และยากที่จะติดตามผล จึงตัดสินใจเลือกหมู่บ้านคำกลางเป็นพื้นที่ปักหลักในการดำเนินงานอย่างจริงจังก่อน แล้วค่อยขยายผลออกไป

ยุทธศาสตร์เด่นอยู่ที่การรุกเข้าถึงรากของเหตุแห่งปัญหา คือ “วัฒนธรรมที่เป็นสัญญะของชายเป็นใหญ่” โดยรุกเข้าไปทำงานเชิงความคิดกับผู้ที่ถูกครอบด้วยระบบคิดชายเป็นใหญ่โดยตรง และเป็นกลุ่มบุคคลที่ถือได้ว่าเป็นต้นแบบของการดื่ม นั่นก็คือผู้นำชุมชน เพื่อเปลี่ยนค่านิยมใหม่ให้เห็นว่าประเพณีวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่กับการดื่มเหล้านั้น ทำให้เกิดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และ ใช้กลยุทธ์ที่ผลักดันให้ผู้ชายเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาร่วมกับกลุ่มผู้หญิงที่เคยถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว จนในที่สุดเกิดต้นแบบ “ผู้นำไม่ดื่ม” และ “งานบุญประเพณีไม่มีเหล้า” ส่งผลกระทบเชิงกระแสค่านิยมใหม่ในพื้นที่ ได้แก่ การจัดงานบุญประเพณีไม่มีเหล้า ผู้ชายเกือบทั้งหมู่บ้านไม่นิยมการดื่มเหล้า ความรุนแรงในชุมชนลดลง ร้านค้าขายเหล้าไม่ได้ ชุมชนข้างเคียงรับรู้ร่วมกันว่าถ้าเข้ามาในบ้านคำกลางจะไม่มีการดื่มเหล้า หรือถ้าคนในหมู่บ้านคำกลางไปร่วมงานชุมชนอื่น ๆ ก็จะไม่ร่วมดื่ม

กระบวนการขับเคลื่อนงาน มีทั้งในส่วนของการให้ความช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กที่ประสบปัญหา การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับแกนนำในศูนย์ฯ การรณรงค์สร้างความเข้าใจในชุมชน รวมถึงประสานการทำงานกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ซึ่งการดำเนินกิจกรรมดังกล่าว ทางมูลนิธิเพื่อนหญิงได้เข้าไปทำงานสนับสนุน โดยเฉพาะการทำงานโดยตรงกับกลุ่มผู้หญิงที่ประสบปัญหาความรุนแรงและกลุ่มผู้ชายดื่มเหล้าที่ใช้ความรุนแรงในครอบครัว คือ การให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคล การเยี่ยมเยียนผู้ประสบปัญหาการเสริมพลังชีวิต (Empowerment) การสะท้อนค่านิยมบทบาทหญิงชาย (Gender) การจัดประชุมกลุ่มสนับสนุน (Group Support) และการจัดประชุมกรณีศึกษา (Case Conference) ทำให้เกิดการสร้างแกนนำใหม่ขึ้นมา 2 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มผู้หญิงและเด็กที่ประสบปัญหาความรุนแรงจากผลกระทบการดื่มเหล้า 2) กลุ่มผู้ชายที่ดื่มเหล้า ผู้ชายที่ต้องการเลิกดื่ม และผู้ชายที่สามารถเลิกดื่มได้ ซึ่งต่อมากลุ่มที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนงานชุมชนของบ้านคำกลางก็คือ “กลุ่มแกนนำผู้ชายเลิกเหล้า” และ “กลุ่มแกนนำผู้หญิงผ่านพ้น”

หลังจากที่ชุมชนบ้านคำกลางประสบผลสำเร็จในการแก้ปัญหาเรื่องเหล้าและความรุนแรงแล้ว จึงได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์ใหม่ด้วยแนวคิด “ยึดและขยายไข่แดงของคำกลาง” ซึ่งเป็นแนวคิดเชิงเฝ้าระวังและป้องกันไม่ให้วัฒนธรรมการนิยมดื่มเหล้าหวนกลับมาอีก โดยเน้นการปรับสภาพแวดล้อมในพื้นที่และขยายพื้นที่คนไม่ดื่มให้กว้างขึ้นอย่างต่อเนื่องไปสู่ชุมชนอื่น ๆ ในพื้นที่ตำบลโนนหนามแท่ง โดยดึงเอาแกนนำผู้ชายเลิกเหล้าและแกนนำผู้หญิงผ่านพ้นให้ออกมาทำงานในพื้นที่ให้มากขึ้น ส่งผลทำให้การดำเนินงานเพื่อลด ละ เลิกเหล้า: ลดความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กของชุมชนบ้านคำกลาง เกิดการขยายผลไปสู่อีก 13 หมู่บ้านในตำบลโนนหนามแท่ง เพื่อสกัดกั้นและเฝ้าระวังสถานการณ์ โดยในปี พ.ศ. 2554 มีการทำ MOU ร่วมกันระดับตำบลเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงจากการดื่มเหล้า และต่อมาในปี พ.ศ. 2560 ผู้ว่าราชการจังหวัดได้นำเรื่องงานบุญประเพณีปลอดเหล้าเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในแผนพัฒนาจังหวัดด้วย

นอกจากนี้ ยังเกิดการบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น และเชื่อมโยงประเด็นเรื่องเหล้าและความรุนแรงไปสู่การพัฒนาชุมชนมิติอื่น ๆ ที่สำคัญคือบูรณาการเรื่องเกษตรอินทรีย์ร่วมกับ มูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) ซึ่งเริ่มเห็นผลเป็นรูปเป็นร่างชัดเจนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 ภายหลังจากที่ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ได้เข้ามารับผิดชอบโครงการฯ ต่อจากมูลนิธิเพื่อนหญิง (ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 เป็นต้นมา) และได้จัดทำโครงการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ในชุมชนบ้านคำกลาง ทำให้เกิด MOU ในระดับตำบลเพื่อควบคุมการใช้สารเคมีควบคู่ไปกับการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เกิดกลุ่มข้าวอินทรีย์จำนวน 30 ครอบครัว เกิดแหล่งอนุรักษ์พันธุ์ปลาจำนวน 5 แห่ง เกิดการวางแผนจัดการเมล็ดพันธุ์พืชโดยกลุ่มผู้หญิงที่ผ่านพ้นปัญหาความรุนแรง และริเริ่มสร้างธนาคารน้ำชุมชน

บทบาทการทำงานของชุมชนบ้านคำกลางมีความเข้มแข็งและขยายผลมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งในเชิงพื้นที่และประเด็นการทำงาน ถือได้ว่ามีการวางรากฐานที่ดีก่อนจะก้าวขึ้นไปสู่การทำงานในรูปแบบขององค์กรชุมชน ทั้งในด้านคนทำงานซึ่งผ่านการพิสูจน์แล้วด้วยผลงานที่ผ่านมาว่า “เอาจริง” และมิติการขับเคลื่อนงานที่มีการมองภาพแบบองค์รวมเห็นความเชื่อมโยงกันในทุกเรื่องทุกระดับตั้งแต่ปัจเจกบุคคลไปจนถึงนโยบายประเทศ

✤ ผลสำเร็จจากการดำเนินงานสรุปได้เป็น 4 ด้าน ดังนี้

  1. ด้านการพัฒนาคน ผู้ชายที่เคยดื่มเหล้าและผู้หญิงที่เคยประสบปัญหาเรื่องความรุนแรงในครอบครัวได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตนเอง จนกลายเป็นกลุ่มแกนนำที่มีทักษะในการทำงานชุมชนและมีสำนึกเพื่อส่วนรวม
  2. ด้านการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน เกิดการมีส่วนร่วมในการจัดการปัญหาของชุมชนได้สำเร็จและมีแนวทางการพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืนในอนาคต
  3. ด้านองค์ความรู้ เกิดองค์ความรู้ของชุมชนที่พัฒนาขึ้นมาจากคนในชุมชนเอง ผ่านกระบวนการที่นำมาใช้ในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ
  4. ด้านนโยบาย มีการสร้างนโยบายในระดับท้องถิ่นและร่วมผลักดันนโยบายระดับประเทศ 

ผลสำเร็จดังกล่าวข้างต้นถือเป็นการวางรากฐานไว้ให้กับองค์กรชุมชนบ้านคำกลางที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะการขับเคลื่อนองค์กรจำเป็นต้องใช้ทั้งทีมงานที่เข้มแข็ง การสร้างการมีส่วนร่วมสูงสุดของคนในชุมชน การใช้องค์ความรู้จากการทำงานที่ผ่านมา รวมถึงการสนับสนุนในระดับนโยบายด้วย

✤ ปัจจัยหนุนเสริมความสำเร็จ ได้แก่ 

  1. มีทั้งแกนนำในระดับบริหารและแกนนำปฏิบัติงานในพื้นที่
  2. การเป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีรากของวัฒนธรรมประเพณีและมีความเคารพเชื่อถือในตัวผู้นำ สามารถนำมาใช้สร้างสรรค์เป็นยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนแบบ “ผู้นำไม่ดื่ม” และ “งานบุญประเพณีไม่มีเหล้า”
  3. ความสัมพันธ์ของสมาชิกในชุมชน มีความเป็นเครือญาติเดียวกันค่อนข้างสูง สร้างการมีส่วนร่วมจากคนในชุมชนได้ง่าย
  4. วิธีการรุกเข้าไปจัดการกับพฤติกรรมการดื่มเหล้าของคนในชุมชน ไม่ตำหนิหรือสร้างมลทินให้กับผู้ดื่ม ทำให้แรงต้านหรือแรงเสียดทานมีน้อย
  5. บทบาทการทำงานของแกนนำในพื้นที่ ทำด้วย “ใจรัก” ไม่ได้คาดหวังชื่อเสียงหรือเงินทอง เป็นพื้นฐานการทำงานที่สำคัญทำให้เกิดความยั่งยืนและมีอุดมการณ์ที่ชัดเจน
  6. ได้รับการหนุนเสริมจากองค์กรพัฒนาเอกชน คือมูลนิธิเพื่อนหญิง (และต่อมาเป็น มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล) ทั้งในฐานะการเป็น “พี่เลี้ยง” การให้องค์ความรู้ และร่วมวางแผนการดำเนินงาน

สรุปลำดับเหตุการณ์สำคัญ 

ปี 2545-2546ปี 2547-2549ปี 2550-2553ปี 2554-2559ปี 2560
  • มูลนิธิเพื่อนหญิงทำวิจัยร่วมกับกลุ่มเพื่อนหญิงอำนาจเจริญ เรื่อง “ผลกระทบของสุราในฐานะปัจจัยร่วมการเกิดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว”
  • ปี 2547 โครงการลด ละ เลิกเหล้า: ลดความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก
    - ตั้งศูนย์ประสานการช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กอำนาจเจริญ

    - ทำงานความคิดกับผู้นำชุมชน

    - เกิดกลุ่มแกนนำผู้ชายเลิกเหล้าและแกนนำผู้หญิงผ่านพ้นปัญหา

    - คนในชุมชนเห็นต้นตอปัญหา เชื่อมโยงได้ว่า “สุราเป็นปัจจัยก่อให้เกิดความรุนแรงในครอบครัวและชุมชน”

    - จัดงานบุญประเพณีปลอดเหล้า
  • บ้านคำกลางเป็นชุมชนต้นแบบเลิกเหล้า 

  • ขยายผลโครงการฯ ครอบคลุมทั้ง 14 หมู่บ้านในตำบลโนนหนามแท่ง
  • เกิดองค์ความรู้ชุมชนเลิกเหล้า
  • ร่วมผลักดัน พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว
  • MOU ระดับตำบลเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงจากการดื่ม
  • เชื่อมโยงประเด็นเรื่องเหล้าและความรุนแรงไปสู่การพัฒนาชุมชนมิติอื่น ๆ
  • ปี 57 โครงการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ (บูรณาการร่วมกับ BIOTHAI)
    - เกิดกลุ่มข้าวอินทรีย์โดยแกนนำผู้ชายเลิกเหล้า

    - วางแผนจัดการเมล็ดพันธุ์พืชโดยกลุ่มแกนนำผู้หญิงผ่านพ้น

    - สร้างแหล่งอนุรักษ์พันธุ์ปลา

    - ริเริ่มธนาคารน้ำชุมชน

    - MOU ระดับตำบลเพื่อควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการใช้สารเคมี
  • มีนโยบายจังหวัดเรื่องงานบุญปลอดเหล้า
  • อยู่ระหว่างจัดตั้งองค์กรชุมชน “สมาคมส่งเสริมคุณธรรมเพื่อการพัฒนา
บทความที่เกี่ยวข้อง
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy