ความสำเร็จของการทำงานพัฒนาชุมเชนเลิกเหล้า ลดความรุนแรงต่อผุ้หญิงและเด็ก ของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ยังสะท้อนผ่านในพื้นที่นำร่องจนค้นพบตัวแทนของผู้ประสบปัญหาที่มีตัวตนจริง และมีเรื่องราวเข้มข้นพอที่ปลุกสังคมให้ตระหนักต่อความรุนแรงของปัญหา
อย่างเช่น “พรณรง ปั้นทอง” “คนต้นแบบผู้ชายเลิกเหล้า”
พรณรงค์ เริ่มดื่มสุรามาตั้งแต่อายุ 16 ปี ขณะนั้นทำงานเป็นพนักงานวางเสาไฟฟ้า โดยมีความเชื่อที่ว่าดื่มสุราแล้วช่วยแก้เครียด ทำงานไม่เหนื่อย ทำให้เริ่มดื่มเรื่อยมาจนหนักขึ้น
“พอย้ายมาทำงานรับเหมาก่อสร้าง ได้เลื่อนขั้นเป็นหัวหน้ายิ่งดื่มหนักเพราะมีรายได้เยอะขึ้น หมดค่าสุรา กินเที่ยวเดือนละเกือบ 2 หมื่นบาท เมื่อแต่งงานมีลูกก็ยังไม่เลิกดื่มเลิกเที่ยว ทำให้มีปัญหากับภรรยาเป็นประจำ เพราะถ้าเมาจะควบคุมสติไม่ได้”
พรณรงกล่าวต่อว่า “เคยดื่มหนักติดต่อกัน 3 วันไม่กินข้าว เคยลงแดง อาเจียนเป็นเลือด เวลาดื่มสุราจะชอบทุบตีด่าทอและไล่ลูกออกจากบ้าน สมัยนั้นทำผิดกับลูกเมียไว้มาก เขาร้องไห้เสียใจมาตลอด”
“จนกระทั่งมีปัญหาสุขภาพและภรรยาตั้งท้องลูกคนที่สอง จึงย้ายกลับมาอยู่ที่บ้านและไปสมัครเป็นคนขับรถให้ผู้นำหมู่บ้าน เริ่มซึมซับการทำงานในเรื่องลดละเลิกความรุนแรง มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลเข้ามาช่วยพูดคุยให้คำปรึกษาจนสามารถเลิกเหล้าอย่างเด็ดขาด”
จาก “ผู้สร้างปัญหา” ปัจจุบันพรณรงก้าวข้ามสถานะดังกล่าวสู่ผู้นำชุมชน เขาเป็นผู้ประสานงานศูนย์การเรียนรู้ชุมชนลดละเลิกเหล้าลดความรุนแรงต่อผู้หญิง ให้ความรู้สร้างความตระหนักกับคนในหมู่บ้าน
“ชีวิตครอบครัวดีขึ้นมาก ลูกดีใจที่เรากลับมาเป็นพ่อที่ ดีได้ อยากฝากในฐานะพ่อว่าลูกคือแก้วตาดวงใจ อยากขอโทษลูกเมียกับสิ่งที่เคยทำผิดพลาดในอดีต จะไม่กลับไปเป็นเหมือนเดิมเด็ดขาด และฝากถึงพ่อทุกคนที่ยังดื่มสุราให้หันมาลดละเลิกเพื่อลูกและครอบครัว" [1]
เมื่อมองย้อนกลับไปที่กระบวนการทำงานจนเกิดผลสำเร็จเช่นนี้ นับได้ว่าเป็น “นวัตกรรม” เลยทีเดียว เพราะการทำงานกับกลุ่มผู้ชายที่ติดเหล้า เพื่อเสริมพลังให้เกิดความเปลี่ยนแปลงนั้นถือเป็นเรื่องใหม่ถอดด้าม
อีกทั้งยังมีข้อพึงสังวรบางประการ ดังที่ อังคณา ใช้คำว่า ‘ผู้ชายเขามีศักดิ์ศรี และมีตัวตนของเขา’
......
✤ จะเด็จ ขยายความถึงวิธีการทำงานกับกลุ่มเป้าหมายนี้ว่า
“การทำงานในชุมชนชนบท วิธีที่จะไปสร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับปัจเจกกับกลุ่มผู้ชายที่ดื่มเหล้าต้องใช้วิธีการลงไปเข้าหาถึงบ้าน เรียกว่า ‘เข้าตีแบบประชิดตัว’ แต่เราไม่ได้ไปคุยให้เขาเลิกเหล้า คนพวกนี้บางทีเขาไม่มีเพื่อน บางช่วงเขารู้สึกโดดเดี่ยว เพราะเขารู้สึกว่ามีคนเกลียดเขา เราจึงเข้าไปหาเขา ค่อย ๆ พูดคุย แรก ๆ คุยเรื่องทุกข์สุขเป็นหลัก เพราะถ้าเราเริ่มด้วยเรื่องเหล้า เขาจะปฏิเสธหรือถึงขั้นต่อต้านเราทันที
“พอเราเข้าหาด้วยวิธีนี้ ตอนแรกเขาจะแปลกใจว่า เขาได้ชื่อว่าเป็นคนชั่วในชุมชน เป็นคนไม่ดี แล้วมาช่วยทำไม หลังจากนั้นก็จะค่อย ๆ คิดขึ้นมาได้ว่า จริง ๆ แล้วเขาก็ไม่ได้เลวมากหรอก พอคุ้นเคยกัน เขาจะค่อย ๆ ระบายสิ่งต่าง ๆ ทั้งเรื่องการกินเหล้า และทำร้ายลูกเมีย”
“ฉะนั้น การทำงานกับกลุ่มผู้ชายจึงมีลักษณะการทำงานเชิงลึก หมายความว่า ต้องลงไปหาเขาก่อนเป็นอันดับแรก ลงไปคุย ลงไปเปลี่ยนความคิดของเขา เขาจะไม่เป็นฝ่ายมาหาเราแบบผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบ เพราะเขาคิดว่า...กูเป็นของกูอย่างนี้แหละ กูไม่อยากเปลี่ยนหรอก”
“หลังผ่านพ้นขั้นแรก คือ การละลายความกลัว กล้าพูดคุยเรื่องของตัวเองแล้วก็จะก้าวไปสู่ขั้นตอนต่อไป คือ การเข้ากลุ่ม “เพื่อนช่วยเพื่อน” หรือกลุ่มสนับสนุน (group support) เป็นช่วง ๆ เพื่อให้เขาเกิดความกล้าที่จะลุกขึ้นสู้เพื่อตัวเอง และเริ่มเห็นตัวอย่างของคนที่ผ่านพ้นปัญหาได้แล้วก็หันมาสู้เพื่อคนอื่น ในกลุ่มนี้เขาจะได้เห็นว่า ทำไมคนอื่นยังมาช่วยเขาได้ แล้วเขาเองไม่คิดจะช่วยคนอื่นบ้างหรือ นี่คือกระบวนการที่ทำให้เกิดการเรียนรู้และเติบโตไปด้วยกันในกลุ่มคนที่เคยประสบปัญหาคล้ายๆ กัน” จะเด็จ เล่าถึงเบื้องหลัง
หลังบุกเบิกชุมชนนำร่องให้ผู้ชายเลิกเหล้า ลดความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ได้มีการประเมินผลอย่างต่อเนื่อง พบว่า เมื่อผู้ชายเลิกเหล้าได้แล้ว ทำให้ความรุนแรงในครอบครัวลดลด บางชุมชนสามารถทำให้ลดปัญหาความรุนแรงลงได้เกือบทั้งหมด บางชุมชนลดลงได้ ร้อยละ 70
ที่สำคัญคือ ผู้ชายที่เลิกเหล้าได้จะผันตัวเองมาเป็นต้นแบบของคนที่ประสบความสำเร็จในการเลิกเหล้า กลายเป็นแกนนำไปช่วยคนที่ยัง “ดื่ม” โดยการลงไปเยี่ยมบ้าน ให้กำลังใจ และจัดกิจกรรม “เพื่อนช่วยเพื่อน” เพื่อแลกเปลี่ยนปัญหาและเรียนรู้ไปด้วยกัน นำมาสู่ความเข้าใจและมีกำลังใจ จนทำให้คนในชุมชนเลิกเหล้าได้อีกเป็นจำนวนมาก
ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ชายที่เลิกเหล้าได้จำนวนหนึ่งได้แปรสภาพจาก “ชนวนปัญหา” กลาย “พลัง” โดยกลายเป็นผู้นำในการพัฒนาชุมชนนับตั้งแต่นั้นมา
[1] อ้างอิงจากบทความ เหล้า กับ "ชีวิตที่เปลี่ยนไป" ในเว็บไซต์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เผยแพร่เมื่อ 12 ธันวาคม 2557 สืบค้นจาก https://www.thaihealth.or.th/Content/26749