share

โครงการ “โรงงานสีขาว ลด ละ เลิกเหล้า เพื่อลดความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก”

Last updated: 13 Jun 2024
458 Views
โครงการ “โรงงานสีขาว ลด ละ เลิกเหล้า เพื่อลดความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก”

โครงการ “โรงงานสีขาว ลด ละ เลิกเหล้า เพื่อลดความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก” มีจุดเริ่มมาจากการที่มูลนิธิเพื่อนหญิง ได้ทำงานร่วมกับผู้ใช้แรงงานหญิง เพื่อสร้างความเท่าเทียมจากระบบ “ชายเป็นใหญ่” และช่วยแก้ปัญหาจากการถูกนายจ้างเอารัดเอาเปรียบด้านกฎหมาย โดยมีการพัฒนาศักยภาพความเข้มแข็งให้ผู้ใช้แรงงานหญิง ให้รับรู้เรื่องสิทธิแรงงาน สิทธิของผู้หญิง สนับสนุนการรวมกลุ่มเพื่อก่อตั้งสหภาพแรงงาน และสามารถเจรจาต่อรองกับนายจ้างได้ รวมไปถึง ร่วมกับเครือข่ายองค์กรแรงงาน ผลักดันให้เกิดนโยบายสาธารณะที่เป็นประโยชน์ต่าง ๆ แก่ผู้ใช้แรงงาน เช่น กฎหมายประกันสังคม, กฎหมายลาคลอด 90 วัน, พระราชบัญญัติคุ้มครองสุขภาพและความปลอดภัยในสถานประกอบการ เป็นต้น 

จากการเข้าไปทำงานกับแรงงานหญิงชาย ทั้งในชุมชนและสถานประกอบการมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้พบว่า กฎหมายที่ผลักดันให้เกิดขึ้นจนสำเร็จเหล่านี้สามารถแก้ไขปัญหาของผู้ใช้แรงงานหญิงได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น เพราะยังมีรากเหง้าอื่น ๆ ของปัญหาที่ซ่อนอยู่อีก

หนึ่งในจำนวนนั้นคือ การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ผู้ใช้แรงงานเห็นว่าเป็นเรื่องปกติ ประกอบกับค่านิยมดั้งเดิมที่เชื่อว่าการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อแสดงความเป็นชาย แสดงความเก่งกล้า  อีกทั้งยังถูกติดตั้ง “ภาพจำ” โดยบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านการตลาด การโฆษณา ให้เข้าใจว่าการบริโภคเครื่องดื่มเหล่านี้เป็นการเข้าสังคม เพื่อการสังสรรค์ ผ่อนคลายความเครียดจากการทำงาน

อย่างไรก็ตาม ภาพจำที่ดูดีมีรสนิยมนั้นกลับสวนทางกับข้อเท็จจริง ดังเห็นได้จากผลการวิจัยของ โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) เมื่อปี 2549 ที่พบว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจมากถึง 156,105 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 1.99 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) หรือ เฉลี่ยประมาณ 2,391 บาทต่อคน อีกทั้ง ค่ารักษาพยาบาลจากการเจ็บป่วยและเสียหายจากอุบัติเหตุยังเป็นเพียงส่วนน้อยของความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เท่านั้น โดยยังพบความสูญเสียทางอ้อม นั่นคือ ประสิทธิภาพในการทำงาน จากการทำงานได้ไม่เต็มที่ ส่งผลเสียทางเศรษฐกิจถึง 104,128 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 65.7

นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลระบุว่า กลุ่มแรงงานที่เสียชีวิตก่อนวัยอันควรเพราะดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีมากถึง 45,500 คน โดยส่วนใหญ่อายุ 30-44 ปี รองลงมาคือ 15-29 ปี ผู้ที่ “ดื่ม” หรือเคยดื่มจะขาดงาน เพราะปัญหาสุขภาพ ประสิทธิภาพขณะทำงานลดลงกว่าผู้ไม่ดื่มถึง ร้อยละ 1.7-5.7  ยิ่งไปกว่านั้น ผลกระทบเหล่านี้ยังเชื่อมโยงกันเป็นลูกโซ่ นำไปสู่ปัญหาอื่น ๆ ทางสังคม ได้แก่ การทะเลาะวิวาท ความรุนแรงในครอบครัว ความรุนแรงทางเพศ

✤ จากสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้น มูลนิธิเพื่อนหญิง จึงพัฒนาโครงการ “โรงงานสีขาว ลด ละ เลิกเหล้า เพื่อลดความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก” ขึ้นเมื่อปี 2549 ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมุ่งหวังที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ใช้แรงงานที่เป็น “นักดื่ม” ให้ ลด ละ เลิกเหล้า เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนกลุ่มนี้ให้ดียิ่งขึ้น  โดยมี คุณจะเด็จ เชาวน์วิไล และ คุณอังคณา อินทะสาเป็นแกนนำ ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการนี้มาตั้งแต่เริ่มต้น จนกระทั่งแกนนำทั้งสองได้มาร่วมก่อตั้งมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล โครงการนี้จึงเปลี่ยนผ่านมาสู่ความรับผิดชอบของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบัน

ปักหมุดโครงการ “โรงงานสีขาว”
ทำอะไร กับ ใคร?

วัตถุประสงค์      เพื่อรณรงค์สร้างความตระหนักถึงปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

กลุ่มเป้าหมาย    ประกอบด้วย 2 กลุ่มหลัก

กลุ่มเป้าหมายหลัก  ได้แก่ แกนนำ ตลอดจนคนงานที่มีพฤติกรรมดื่มเหล้าที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานของสถานประกอบการ 4 แห่ง ได้แก่

  • สหภาพแรงงานอัญมณีและเครื่องประดับสัมพันธ์ บริษัท สเต็ปสโตนส์ จำกัด จังหวัดลำพูน 
  • สหภาพแรงงานผลิตภัณฑ์ยางแห่งสมุทรสาคร ห้างหุ้นส่วนจำกัด อุตสาหกรรมยางไทยสิน จังหวัดสมุทรสาคร   
  • สหภาพแรงงานกิจการสิ่งทอ บริษัท วาไทยอุตสาหกรรม จำกัด จังหวัดนนทบุรี
  • สหภาพแรงงานน้ำใจสัมพันธ์ บริษัท ยางโอตานิ จำกัด จังหวัดนครปฐม 

กลุ่มเป้าหมายรอง ได้แก่

  • คนงานทั่วไปในโรงงานของสถานประกอบการทั้ง 4 แห่ง ทั้งที่เป็นสมาชิกและไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน
  • สถานประกอบการเพื่อให้บริษัทก้าวมามีส่วนร่วมสนับสนุนการดำเนินการ
  • ภาคีเครือข่ายอื่น ๆ ที่สนใจ เพื่อเกิดการขยายผลการดำเนินงาน
  • คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน เพื่อให้เกิดการผลักดันนโยบายโรงงานสีขาว

การดำเนินงาน

โครงการ “โรงงานสีขาว ลด ละ เลิกเหล้า เพื่อลดความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก”  เริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ ด้วยการพัฒนาแกนนำ ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก ได้แก่  สมาชิกสหภาพแรงงาน แล้วก้าวไปสู่การสร้างเครือข่าย และ การผลักดันนโยบาย โดยอาจแบ่งพัฒนาการของโครงการอย่างกว้าง ๆ ได้เป็น 6 ขั้นตอน ดังภาพต่อไปนี้

 ✤ แนวทางการดำเนินงานโครงการโรงงานสีขาวฯ เริ่มต้นจาก

1. สร้างความตระหนักให้แกนนำ การทำให้แกนนำสหภาพแรงงานมองเห็นผลกระทบจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยมีการจัดประชุมพูดคุย จัดสัมมนาให้ความรู้แกนนำจนเห็นปัญหาที่ชัดเจน และเริ่มต้นคิดกิจกรรมที่เหมาะสมกับบริบทแวดล้อมของแต่ละโรงงาน

2. การจัดกิจกรรมรณรงค์เปิดตัวโครงการ เมื่อแกนนำแรงงานเกิดความตระหนัก เห็นความสำคัญของปัญหา พร้อมที่จะให้ความร่วมมือและเริ่มปฏิบัติตัวเป็นแบบอย่างแล้วก็จัดกิจกรรมรณรงค์เปิดตัวโครงการ โดยอาศัยวันสำคัญทางประเพณีหรือพุทธศาสนา เช่น งานรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา การลงชื่อปฏิญาณตนงดเหล้า เพื่อสร้างการรับรู้และแรงจูงใจให้สมาชิกสหภาพแรงงานที่ดื่มเหล้าเข้าร่วม มีการพัฒนาคนต้นแบบเลิกเหล้า โดยมองหาจากคนที่เป็นนักดื่มตัวยง ติดเหล้าหนัก และมีความต้องการเลิกดื่ม ชักชวนให้มาเริ่มเปลี่ยนแปลงตนเอง ลด ละ เลิกเหล้า เพื่อเป็นแบบอย่างให้กับคนงานในโรงงาน 

3. จัดกิจกรรมเยี่ยมบ้านนักดื่มที่ติดเหล้าหนัก และครอบครัวมีปัญหาความรุนแรง เพื่อการสร้างขวัญและกำลังใจอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ และเสริมด้วยการจัดค่ายครอบครัวเพื่อสร้างโอกาสให้สมาชิกในครอบครัวได้ทำกิจกรรมร่วมกัน สามารถเปิดใจพูดคุยถึงปัญหาที่เกิดขึ้น รวมไปถึงมีการอบรมให้ความรู้เรื่องบทบาทชาย-หญิง ความไม่เท่าเทียมกันระหว่างหญิง-ชายที่สังคมสร้างขึ้น เพื่อให้ผู้ชายได้เรียนรู้และปรับพฤติกรรมการใช้อำนาจของตน 

กิจกรรมในส่วนนี้เรียกได้ว่า เป็นการใช้ครอบครัวเป็นฐานในการปรับพฤติกรรมการดื่มเหล้าของสมาชิกสหภาพแรงงานทั้งชายและหญิง ซึ่งต้องเน้นการทำงานแบบประชิดตัว มีการติดตามดูแลใกล้ชิดเป็นรายคน/ครอบครัว 

4. จัดกิจกรรมรณรงค์ที่สนับสนุนการลด ละ เลิกเหล้าอย่างต่อเนื่อง โดยสหภาพแรงงานร่วมมือกับบริษัท เช่น การจัดงานเลี้ยงปลอดเหล้า ในวันเทศกาลต่าง ๆ และกิจกรรมสร้างสรรค์อื่น ๆ เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจให้พนักงานห่างไกลจากวงเหล้า

หลังจากสหภาพแรงงานและบริษัทร่วมกันจัดกิจกรรมจนสามารถแก้ไขปัญหาการดื่มเหล้าในโรงงานได้ดี คนงานลด ละ เลิกดื่มได้มากขึ้น ปัญหาการขาดงาน ลางาน ลดลง ประสิทธิภาพการทำงาน เพิ่มขึ้น

5. ขยายผล ในปีที่สามของการทำงานก็มีการนำบทเรียนโรงงานสีขาว ลด ละ เลิกเหล้า ไปขยายผลสู่โรงงานอื่นๆ ที่สนใจ มีการจัดประชุมสัมมนาระดับจังหวัด การรณรงค์ร่วมกับภาคีอื่นๆ ในวันสำคัญ เช่น วันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก ทั้งในระดับชุมชนที่ใกล้เคียงบริษัท และในระดับจังหวัด

6. ผลักดันให้เป็นนโยบายระดับชาติ กิจกรรมที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมในวงกว้างอย่างมาก คือการร่วมมือกับภาคีเครือข่ายภาคส่วนต่าง ๆ ผลักดันโรงงานสีขาวปลอดเหล้าให้เป็นนโยบายระดับกระทรวงแรงงาน เพื่อให้เกิดผลบังคับใช้ทั้งประเทศ 

......

✤  จากกระบวนการทำงานดังกล่าว ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงใน 3 ระดับ ดังนี้

1.ระดับผู้ใช้แรงงานในโรงงาน  คนที่สามารถลด ละ เลิกเหล้าได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในหลายด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ คือมีเงินเหลือเก็บ ไม่มีหนี้สิน มีเงินลงทุนทำอาชีพเสริม ด้านสุขภาพ/ความปลอดภัยในการทำงาน ไม่ป่วย ไม่ลา ไม่สายบ่อย  อุบัติเหตุในการทำงานลดลงเพราะมีสติในการทำงานมากขึ้น สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพขณะที่ชีวิตครอบครัวก็มีความรักความอบอุ่นมากขึ้น ไม่มีการใช้ความรุนแรงในครอบครัว

2. ระดับองค์กร สหภาพแรงงาน และบริษัท จากการทำโครงการนี้และได้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สหภาพแรงงานมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสมาชิกสหภาพแรงงานและคนงานในโรงงานมากขึ้น  ทำให้คนงานรวมถึงคนในสังคมทั่วไปเข้าใจบทบาทของสหภาพแรงงานมากขึ้นว่า ไม่ใช่การรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องสิทธิให้กับคนงานเท่านั้น  แต่สามารถทำงานเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนงานในด้านอื่นๆ ได้ด้วย  และยังมีบทบาทในการเข้าร่วมสนับสนุนกิจกรรมการรณรงค์ประเด็นทางสังคมทั้งนี้ หลังจากทำโครงการพบว่าสหภาพแรงงานแต่ละแห่งมีคนงานสมัครเป็นสมาชิกเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ยังพบว่า ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพแรงงานกับนายจ้างหรือบริษัทดีขึ้นด้วย โดยทำให้เกิดความเข้าใจและนับถือกัน  เพราะจากการได้ทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาการดื่มเหล้าของคนงาน ทำให้บริษัทเห็นความตั้งใจจริงของสหภาพแรงงานจากการปฏิบัติตัวเป็นแบบอย่าง และสามารถทำให้คนงานเลิกเหล้าได้จริง ส่งผลดีต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ด้านสหภาพแรงงานก็ได้เห็นความจริงใจของบริษัท ผ่านการสนับสนุนกิจกรรมในด้านต่างๆ ทำให้กำแพงความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกันทลายลง

3. ระดับชุมชน สังคม และประเทศ จากความสำเร็จของการพัฒนาโรงงานสีขาวปลอดเหล้าต้นแบบในบริษัทต่างๆ  ทำให้ภาครัฐ องค์กรส่วนท้องถิ่น องค์กรภาคประชาคมจังหวัดเกิดความตื่นตัว มีการพัฒนานโยบายโรงงานสีขาวระดับจังหวัดให้เกิดขึ้น เช่นสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สาธารณสุขจังหวัด ป้องกันภัยจังหวัด พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด ประชาคมงดเหล้าจังหวัด โดยได้ร่วมกันรณรงค์ให้เกิดนโยบายจังหวัดในการพัฒนาตัวชี้วัดโรงงานสีขาวให้ครอบคลุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย กระทั่งนำไปสู่การผลักดันให้เกิดกฎหมายห้ามขายหรือห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่ประกอบกิจการโรงงาน โดยสำนักนายกรัฐมนตรีได้ประกาศใช้เมื่อปี 2555 และยังคงมีผลบังคับใช้มาถึงปัจจุบัน

หลังจากมีการประกาศใช้กฎหมายห้ามขายหรือห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่ประกอบกิจการโรงงาน ส่งผลให้สถานประกอบทุกแห่งต้องปฏิบัติตามซึ่งถือว่าบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการแล้วแต่สหภาพแรงงานของสถานประกอบการ 2 แห่ง ที่เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ สหภาพแรงงานผลิตภัณฑ์ยางแห่งสมุทรสาคร ห้างหุ้นส่วนจำกัด อุตสาหกรรมยางไทยสิน จ.สมุทรสาคร และ สหภาพแรงงานน้ำใจสัมพันธ์ บริษัท ยางโอตานิ จำกัด จ.นครปฐม ยังคงจัดกิจกรรมรณรงค์ลดละเลิกเหล้าอย่างต่อเนื่อง และต่อยอดเป็นกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพด้านอื่นๆ เพิ่มเติมด้วย เช่น การรณรงค์ลด ละ เลิกสูบบุหรี่  การสวมหมวกนิรภัยขณะขับขี่รถจักรยานยนต์ เป็นต้น

จุดนี้ อาจแสดงให้เห็นว่า ภาคีกลุ่มเป้าหมายตระหนักถึงผลดีของการดำเนินงานและนำไปสู่การดำเนินงานได้ด้วยตนเอง

นอกจากนี้ มูลนิธิฯ ยังคงดำเนินโครงการโรงงานสีขาวลด ละ เลิกเหล้าฯ โดยสนับสนุนงบประมาณจำนวน 300,000 บาทต่อปี ให้กับเครือข่ายสหภาพแรงงาน 14 แห่ง ในกลุ่มอ้อมใหญ่-อ้อมน้อย (บ.โอตานิฯ และ บ.ไทยสินฯ ก็อยู่ในกลุ่มนี้ด้วย)  นำไปบริหารจัดการให้เกิดกิจกรรมต่างๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตสมาชิกสหภาพแรงงานรวมถึงการจัดกิจกรรมรณรงค์ลด ละ เลิกเหล้าฯ ให้มีความต่อเนื่อง

บทความที่เกี่ยวข้อง
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy