ก้าวแรกในการทำงานกับพื้นที่ชุมชนต่าง ๆ ของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เริ่มต้นขึ้นเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว จากสถานการณ์ปัญหา เรื่องความรุนแรงต่อเด็กและผู้หญิงที่สั่งสมมายาวนานในสังคมไทย แต่ยังขาดหน่วยงานที่จับประเด็นนี้อย่างเกาะติดและเจาะลึกอย่างจริงจัง
ขณะนั้น มูลนิธิเพื่อนหญิง โดยการนำของ คุณจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้จัดการมูลนิธิฯ ในขณะนั้น เป็นองค์การพัฒนาเอกชนที่สนใจติดตามสถานการณ์ ปัญหาเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง และในปี 2545 ได้ร่วมมือกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทำโครงการวิจัยเรื่อง “ผลกระทบของสุราในฐานะปัจจัยร่วมการเกิดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว” โดยปฏิบัติงานร่วมกับเครือข่ายผู้หญิง 4 พื้นที่ ในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ ได้แก่ ชุมชนฟ้าใหม่ จ.เชียงใหม่, ชุมชนบ้านคำกลาง จ.อำนาจเจริญ, โรงพยาบาลชุมพรเขตอุดมศักดิ์ จ.ชุมพร และชุมชนไทยเกรียง จ.สมุทรปราการ ทำให้ค้นพบต้นเหตุของปัญหาที่ถูกซุกซ่อนอยู่ภายใต้ค่านิยม “ชายเป็นใหญ่” และปัจจัยกระตุ้นให้เกิดการใช้ความรุนแรงในครอบครัวได้ถูกคลี่ออกมาให้เห็นชัด นั่นก็คือการดื่มสุรา โดยผู้ชาย ร้อยละ 70-80 ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีประสบการณ์ใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก
โครงการวิจัยชิ้นนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การจัดการปัญหาความรุนแรงในครอบครัวที่ “ต้นเหตุ” และเป็นก้าวสำคัญของการขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนในพื้นที่ต่าง ๆ จนเกาะเกี่ยวเป็นเครือข่ายอีกหลายพื้นที่ในเวลาต่อมา
จากผลการวิจัยเรื่อง “ผลกระทบของสุราในฐานะปัจจัยร่วมการเกิดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว” ในปี 2545 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานเชิงรุกเพื่อเก็บข้อมูลจากพื้นที่ชุมชนทำให้เห็นต้นทางของปัญหาและเหตุปัจจัยมากมายในชุมชนที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดปัญหาต่าง ๆ เมื่อโครงการแรกเสร็จสิ้นลง ทางมูลนิธิเพื่อนหญิงได้นำความรู้และข้อมูลจากงานวิจัยมาต่อยอด โดยการทำโครงการเพื่อลดผลกระทบจากเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ในชุมชน 4 พื้นที่ และทำให้เห็นปัญหาของชุมชนชัดขึ้นจึงเกิดการบุกเบิกการทำงาน “แนวรุก” ผ่านโครงการ “ลดเหล้า:ลดความรุนแรงต่อเด็กและผู้หญิง” โดยดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมผลักดันการแก้ปัญหา ทำความเข้าใจถึงผลกระทบการดื่มสุราที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงในครอบครัว เริ่มจากการรุกเข้าหากลุ่มเป้าหมาย คือ “ผู้ชายที่ดื่มเหล้า” เพื่อชวนให้ผู้ชายเลิกเหล้าเพราะปัญหาส่วนใหญ่มาจากผู้ชายเป็นหลัก
จนกระทั่งในปี 2554 เมื่อมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลได้มารับช่วงต่อจึงมีการปรับเปลี่ยนการดำเนินงาน จากรูปแบบโครงการมาเป็นแผนงานทำให้เกิดการพัฒนาโครงการ ที่มีลักษณะหลากหลายตามบริบทท้องถิ่น เพื่อสร้างพื้นที่ชุมชนต้นแบบให้สามารถขับเคลื่อนงานจัดการปัญหาความรุนแรงในครอบครัวจากเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ และขยายงานไปสู่พื้นที่ใหม่ ๆ นอกเหนือจาก 4 พื้นที่เดิมผ่านการขับเคลื่อนโครงการ “พัฒนา เครือข่ายเลิกเหล้ายุติความรุนแรงต่อเด็กและผู้หญิง” โดยในระยะแรกตั้งเป้าหมายให้พื้นที่เครือข่ายสามารถ ดำเนินกิจกรรมและโครงการต่าง ๆ ในพื้นที่ได้ด้วยตนเอง ส่วนในระยะที่สอง เน้นการพัฒนาศักยภาพเครือข่าย เดิมให้สามารถพึ่งตนเองได้มากขึ้นและสนับสนุนเครือข่ายใหม่โดยมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลรับบทบาทเป็นพี่เลี้ยงคอยหนุนเสริมและติดตามกำกับดูแลให้การดำเนินงานบรรลุผลสำเร็จ
สิ่งที่เป็นหลักสำคัญในการบุกเบิกงานพื้นที่ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ 1. การนำฐานคิดเรื่องของกระบวนการทำงานเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็ง (empowerment) ไปใช้กับกลุ่มเป้าหมาย โดยมีการทำงานความคิดกับทั้งกลุ่มผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบ และกลุ่มผู้ชายที่ดื่มเหล้าแล้วใช้ความรุนแรง ทำให้เกิดกลุ่มแกนนำในพื้นที่ที่ลุกขึ้นมาจัดการปัญหาในชุมชนของตนเอง 2. การประยุกต์หลักการทำงานเรื่องสิทธิแรงงาน/สหภาพมาปรับใช้กับการทำงานชุมชนด้วยวิธีการสร้างการมีส่วนร่วมในการต่อสู้กับปัญหาแบบเคียงบ่าเคียงไหล่คล้ายกับเป็นสหภาพชุมชน เพื่อทำให้ผู้ได้รับผลกระทบตระหนักถึงสิทธิของตนเอง เกิดการรวมกลุ่มเพื่อเสริมพลังอำนาจในการต่อรองเชิงนโยบายการแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้และขับเคลื่อนงานในรูปแบบเครือข่าย รวมถึงการจัดตั้งศูนย์หรือองค์กรเพื่อช่วยเหลือคนในชุมชน
การทำงานกับชุมชนของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล มีเป้าหมายเพื่อหนุนเสริมขบวนการภาคประชาชนให้เข้มแข็งโดยสร้างความเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาวะที่เชื่อมโยงตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงระดับปัจเจกไปสู่การเปลี่ยนแปลงระดับนโยบายซึ่งสรุปได้เป็นกระบวนการ 5 ขั้นตอน ดังนี้
✤ ขั้นที่หนึ่ง การเสริมพลังในระดับปัจเจกเป็นการสร้างความเปลี่ยนแปลงจากภายในระดับจิตสำนึก ทัศนคติและความเชื่อของทั้งหญิงและชาย จนนำไปสู่การทำให้กลุ่มเป้าหมายทั้งหญิงและชายที่ผ่านพ้นปัญหา มาเป็น “คนต้นแบบ” และแกนนำอาสาสมัครในการช่วยเหลือผู้อื่นต่อไป
✤ ขั้นที่สอง กระบวนการในระดับกลุ่ม/ครอบครัว เป็นการเปิดเวทีให้ทั้งหญิงและชายได้เข้ามาพูดคุยกันทำให้ทั้งสองฝ่ายพร้อมรับฟังและเปิดใจเพื่อสร้างความเข้าใจลดความขัดแย้งยอมรับที่จะปรับเปลี่ยนและร่วมแก้ไขปัญหาจนนำไปสู่การเป็น “ครอบครัวต้นแบบ” ที่ไม่ใช้ความรุนแรงและสามารถถ่ายทอดบทเรียน ให้กับครอบครัวที่ประสบปัญหาได้
✤ ขั้นที่สาม การรณรงค์ปรับสภาพแวดล้อมในชุมชนเป็นการให้ “คนต้นแบบ” และ “ครอบครัว ต้นแบบ” นำประสบการณ์จริงทั้งในด้านของปัญหาการเปลี่ยนแปลงตนเองและสิ่งที่เกิดหลังจากปรับเปลี่ยนมาถ่ายทอดสู่สมาชิกชุมชนในวาระต่าง ๆ เช่น งานเทศกาล งานประเพณี งานสื่อสารสาธารณะในระดับชุมชนท้องถิ่น หรือในโรงงาน ทำให้ชุมชนได้เรียนรู้ร่วมกันว่าปัญหาความรุนแรงไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นปัญหาของชุมชนที่ต้องร่วมกันแก้ไข
✤ ขั้นที่สี่ การทำงานกับเครือข่ายเป็นขั้นของการขยายผลไปสู่การสร้างพันธมิตรกับชุมชนใกล้เคียง รวมถึงกลุ่มองค์กรและชุมชนอื่น ๆ ที่มีความสนใจร่วมกันเพื่อให้เกิดผลในระดับพื้นที่ที่กว้างขึ้นเสริมให้เกิด ความเข้มแข็งทั้งทางด้านความรู้ ความคิด ประสบการณ์ และเพิ่มพลังความร่วมมือ ตลอดจนสร้างอำนาจการต่อรองเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ชุมชนต้องการ
✤ ขั้นที่ห้า การพัฒนานโยบายเป็นระดับที่สะท้อนถึงความเข้มแข็งจากภายในของภาคประชาชน ในการเรียกร้องผลักดันสนับสนุนให้เกิดโครงสร้างกฎหมายนโยบายมาตรการในระดับต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับเป้าหมายที่ชุมชนต้องการให้เกิดขึ้น
จากการทบทวนประสบการณ์การขับเคลื่อนงานตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ทำให้มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลมีความเชื่อว่า ท้ายที่สุดแล้วถ้าหากต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน ทั้งในระดับชุมชน-นโยบาย จะต้องทำให้งานภาคประชาชนมีความเข้มแข็ง โดยการสร้างองค์กรให้เกิดขึ้นในชุมชนจึงได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดกับแกนนำในพื้นที่ต่าง ๆ จนทำให้เกิดองค์กรชุมชนขึ้นมาตามความพร้อมของแต่ละแห่งโดยองค์กรชุมชนที่เกิดขึ้นในบริบทการทำงานของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลประกอบด้วยวิธีคิด ดังนี้
ระบวนการทำงานดังกล่าวเป็นแนวทางที่มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลใช้ในการทำงานเพื่อนำพาชุมชนออกจากปัญหา แต่อาจไม่ใช่คำตอบสำเร็จรูป ดังเช่นการใช้กระบวนการ 5 ขั้นตอน อาจแก้ปัญหาได้เฉพาะเรื่องระบบชายเป็นใหญ่กับความรุนแรงในครอบครัว แต่ปัญหานี้มีมิติของความยากจนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยจึงจำเป็นต้องมีการใช้วิธีอื่นเข้ามาเสริม ทั้งนี้จะต้องวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายให้ทะลุทะลวงว่าปมปัญหาทับซ้อน กันอยู่กี่ชั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเป็นธรรมทางสังคม ความเหลื่อมล้ำ ฯลฯ อีกทั้งการมีองค์กร ชุมชนเกิดขึ้นแล้วก็ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าชุมชนนั้นจะเข้มแข็ง แต่จะต้องดูไปถึงวิธีการทำงานว่าจะทำอย่างไรให้กลไกนี้มีบทบาทในการช่วยเหลือคนในชุมชนได้จริง และองค์กรก็อยู่รอดได้ซึ่งทีมงานมูลนิธิฯ ก็ต้องร่วมเรียนรู้และเติบโตไปพร้อมกับชาวบ้าน
......
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ผลสำเร็จจากการดำเนินงานในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกันไปตาม ศักยภาพของกลุ่มแกนนำและบริบทชุมชน ซึ่งมีทั้งชุมชนเมือง ชุมชนชนบท และชุมชนแรงงาน แต่โดยหลัก ๆ แล้วพบว่าผลสำเร็จที่สำคัญคือเกิดองค์ความรู้จากการขับเคลื่อนงานชุมชนเลิกเหล้าเกิดกลุ่มแกนนำผู้ชาย เลิกเหล้าและกลุ่มแกนนำผู้หญิงผ่านพ้นปัญหาที่สามารถขับเคลื่อนงานในพื้นที่ของตนได้มีการจัดตั้งศูนย์ ประสานงานเพื่อช่วยเหลือเด็กและผู้หญิงในชุมชนและบางแห่งก็มีศักยภาพในการจัดตั้งองค์กรชุมชนขึ้นมา เพื่อให้เกิดการทำงานที่ยั่งยืนมีการเชื่อมโยงประเด็นเรื่องเหล้าและความรุนแรงไปสู่การพัฒนาชุมชนมิติอื่น ๆ และขยายเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่