แนวปฏิบัติสำคัญอีกส่วนหนึ่งของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ก็คือ แนวทางการพัฒนาศักยภาพให้แก่ชุมชนการทำงานแบบ “เคียงบ่าเคียงไหล่” คือ ร่วมเรียนรู้ ร่วมปฏิบัติ และนำความรู้ตลอดจนทักษะจากการทำงานพัฒนาสังคมและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบที่มีมาถ่ายทอดและฝึกฝนจนแกนนำที่มีความพร้อมในชุมชนสามารถจับหลักการและนำไปปฏิบัติ ถ่ายทอดกันต่อได้เอง
"แรงหนุน 3 จังหวะ" ที่มูลนิธิฯ ใช้เป็นแนวทางการในการทำงานพัฒนาสุขภาวะในชุมชน ได้แก่
ช่วงที่ 1 “นำทำ” เป็นช่วงเริ่มต้นการเข้าสู่พื้นที่ ทีมงานของมูลนิธิฯ มีบทบาทเป็นผู้ริเริ่มและออกแบบกิจกรรมที่เหมาะสมกับสภาพปัญหาและความต้องการของชุมชน เพื่อสาธิตแนวทางการจัดกิจกรรม สร้างกลุ่มแกนนำ และพัฒนาพื้นฐานให้ชุมชนพร้อมสำหรับการดำเนินงานด้วยตัวเองในระยะต่อไป
ช่วงที่ 2 “ชวนทำ” เป็นช่วงของการพัฒนาศักยภาพแกนนำที่เกิดขึ้นให้มีความรู้ ความเข้าใจ และทักษะในการดำเนินกิจกรรมได้เอง เช่น การให้คำปรึกษา เยี่ยมบ้านผู้ประสบปัญหา จัดค่ายครอบครัว ฯลฯ ทีมงานมูลนิธิฯ ปรับบทบาทเป็น “พี่เลี้ยง” ในการฝึกอบรม ถ่ายทอดความรู้
ช่วงที่ 3 “ชุมชนทำเอง” ชุมชนคิดออกแบบโครงการและดำเนินกิจกรรมหลัก ๆ เพื่อจัดการปัญหาหรือตอบสนองทิศทางการพัฒนาของชุมชนได้เอง ทีมงานของมูลนิธิฯ ปรับบทบาทเป็น “ที่ปรึกษา” ของชุมชน เพื่อให้เกิดการดำเนินงานพัฒนาด้านสุขภาวะที่ตอบสนองความต้องการของชุมชนได้อย่างยั่งยืน และสนับสนุนการพัฒนา “องค์กรชุมชน”
บทพิสูจน์ผลสำเร็จของแนวคิด "การหนุน 3 จังหวะ" ซึ่งกลั่นกรองจากประสบการณ์การทำงานบนเส้นทางการพัฒนา “ชุมชนเลิกเหล้า ลดความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก” ก็คือ ชุมชนหลายแห่งสามารถยกระดับศักยภาพจนนำไปสู่การก่อตั้ง “องค์กรชุมชน” เพื่อทำหน้าที่เป็นกลไกสำหรับการพัฒนาสุขภาวะอย่างยั่งยืนของชุมชนได้สำเร็จ