share

เปลี่ยนแปลงคน ชุมชน และสังคมด้วย “กระบวนการ 5 ขั้นตอน”

Last updated: 13 Jun 2024
156 Views
เปลี่ยนแปลงคน ชุมชน และสังคมด้วย “กระบวนการ 5 ขั้นตอน”

สิ่งที่ทีมงานยึดถือเป็นหลักสำคัญในการบุกเบิกงานของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ก็คือ "กระบวนการ 5 ขั้นตอน" ที่นำฐานความคิดในเรื่องของ กระบวนการทำงานเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็ง (empowerment) ให้กับกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบ ที่ใช้ทำงานภาคสนามกับกลุ่มแรงงานหญิงมานานกว่า 20 ปี มาปรับประยุกต์จนเกิดเป็นแนวทางเอกลักษ์เฉพาะตัว

“กระบวนการ 5 ขั้นตอน”  ซึ่งตกผลึกจากประสบการณ์ทำงานพัฒนาภาคสนามมานาวนานกว่า 3 ทศวรรษ ของทีมงานที่สืบเนื่องจากมูลนิธิเพื่อนหญิง ได้ส่งผ่านมาสู่มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ในฐานะเส้นทางเดินหลัก (road map) ที่ทีมงานใช้ในการทำงานในชุมชน เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาวะที่เชื่อมโยงตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงระดับปัจเจกไปสู่การเปลี่ยนแปลงระดับนโยบาย

ภาพแสดง “กระบวนการ 5 ขั้นตอน”
ในการเสริมพลังให้แก่กลุ่มเป้าหมาย ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงเพื่อพัฒนาสุขภาวะอย่างยั่งยืน

ขั้นตอนที่ 1 การเสริมพลังในระดับปัจเจก เป็นการเปลี่ยนแปลงจากภายในของระดับจิตสำนึกที่เคยมีทัศนคติความเชื่อเดิมว่า ผู้หญิงต้องยอมรับว่าเป็นผู้ถูกกระทำจากสามี และผู้หญิงต้องอดทน สามีทำอะไรก็ได้ รวมทั้ง ผู้ชายสามารถกระทำความรุนแรงอะไรก็ได้ ให้เกิดการปรับทัศนคติควบคู่ไปพร้อมกันทั้งหญิงและชาย โดยมีความแตกต่างกันในเนื้อหา ดังนี้

✤ การเสริมพลังให้กับผู้หญิง หมายถึง การทำให้ผู้หญิงกล้าที่จะลุกขึ้นยืน กล้าพูด กล้าต่อสู้จากสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นกับตนเอง รู้ถึงศักยภาพที่ตนเองมีอยู่ สามารถพิทักษ์สิทธิของตนเองได้ และเตรียมความพร้อมผู้หญิงเพื่อเข้าสู่กระบวนการสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นระหว่างหญิงและชาย โดยการกล้าพูดกับสามีให้ลดความรุนแรง และสื่อสารกันอย่างเข้าใจมากขึ้น

✤ การเสริมพลังและปรับเปลี่ยนทัศนคติให้กับผู้ชาย มุ่งที่การทำให้ผู้ชายมองเห็นสถานการณ์ที่ผู้หญิงเผชิญอยู่ โดยเฉพาะปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งผู้ชายต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบ เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากการดื่มเหล้า ทำให้เกิดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ผู้ชายต้องกล้าเปิดเผย ยอมรับการกระทำของตนเองได้ ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขและเปลี่ยนแปลงตนเอง และมองผู้ชายว่า นอกจากเป็นต้นตอของเหตุความรุนแรง ผู้ชายยังมีศักยภาพที่สามารถป้องกันและแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้

✤ องค์ประกอบที่สำคัญในดำเนินกระบวนการขั้นตอนนี้ให้เกิดผลมีด้วยกันหลายส่วน ที่สำคัญคือ การเปิดโอกาสให้ผู้ที่เป็นเจ้าของปัญหาได้พูดถึงปัญหา ถ่ายทอดประสบการณ์ที่ตนผ่านมาในทุกด้าน และแสดงความรู้สึกออกมาอย่างตรงไปตรงมา โดยไม่ถูกตัดสิน ได้รับความเข้าใจ เห็นใจ และสนับสนุน ช่วยเหลือ สิ่งเหล่านี้จึงโน้มนำให้เกิดการสร้างตัวตนใหม่ทั้งของหญิงและชายที่เคยอยู่ในวังวนปัญหา ลดการตำหนิตัวเอง หันมาเห็นคุณค่าที่มีอยู่ในตนเอง และเห็นศักยภาพที่ตนมีอยู่ชัดเจนกว่าที่ผ่านมา

✤ จากนั้น การเสริมพลังและปรับเปลี่ยนทัศนคติเป็นการถ่ายทอด แลกเปลี่ยนกันระหว่าง ผู้ที่เคยประสบปัญหา กับ ผู้ที่ประสบปัญหา โดยใช้กิจกรรม การจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันอย่างต่อเนื่อง รวมถึง การเยี่ยมบ้าน เพื่อทำการพูดคุย ประเมินผล และติดตามวิถีชีวิตความเป็นอยู่ จะนำไปสู่การทำให้กลุ่มเป้าหมายทั้งหญิงและชายที่ผ่านพ้นปัญหามาเป็นคนต้นแบบและแกนนำอาสาสมัคร ในการช่วยเหลือคนที่ประสบปัญหาแบบตนเองในชุมชน

ขั้นตอนที่ 2 กระบวนการในระดับกลุ่ม/ครอบครัว เป็นการเปิดเวทีให้ทั้งหญิงและชายเข้ามาพูดคุย หลังจากที่ต่างฝ่ายได้มีโอกาสเปิดเผยข้อขัดแย้ง ความคับข้องใจที่ต่างฝ่ายต้องพร้อมรับฟังและเปิดใจ หรือความต้องการให้แต่ละคนต้องปรับเปลี่ยน

✤ กระบวนการนี้มีความสำคัญเนื่องจากการเสริมพลังหญิงและชายมิได้มุ่งให้เกิดความขัดแย้ง โดยผู้หญิงได้เรียนรู้ทิศทางของการเสริมพลังเพื่อให้ตนเองรู้ถึงสิทธิและศักยภาพที่ตนเองมีอยู่  ขณะเดียวกัน การเสริมพลังของผู้ชาย มุ่งให้มองเห็นถึงมิติของความเป็นผู้หญิงและผู้ชายได้ทบทวนตนเอง จนเกิดการยอมรับและเปลี่ยนทัศนคติเข้ามาแก้ไขปัญหา รวมทั้งรับฟังคนในครอบครัว จนนำมาสู่การเป็น “ครอบครัวต้นแบบ” ที่ไม่ใช้ความรุนแรงในครอบครัว และสามารถถ่ายทอดบทเรียนให้กับครอบครัวที่ประสบปัญหาได้

ขั้นตอนที่ 3 การรณรงค์ปรับสภาพแวดล้อมในชุมชน โดย “คนต้นแบบ ลด ละ เลิกเหล้า: ลดความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก” และ “ครอบครัวต้นแบบ” นำประสบการณ์จริงที่เกิดกับตนเอง ทั้งในด้านของปัญหา การเปลี่ยนแปลงตนเอง และสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น มาถ่ายทอดสู่สมาชิกชุมชนในวาระต่าง ๆ เช่น กิจกรรมงานเลี้ยงไม่มีเหล้า งานประเพณีไม่มีเหล้า งานเทศกาลไม่มีเหล้า กีฬาปลอดเหล้า สภาข้าวต้ม โจ๊ก สภากาแฟ ฯลฯ ขณะที่ “กลุ่มผู้ชายเลิกเหล้า” ได้ทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อขยายผลต่อไปสู่ผู้ชายด้วยกัน

✤ สิ่งเหล่านี้ทำให้ชุมชนได้เรียนรู้ร่วมกันว่า ปัญหาความรุนแรงไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นปัญหาของชุมชนที่ต้องร่วมกันแก้ไข

✤ เมื่อกระบวนการทั้ง 3 ระดับนี้ ได้ถูกถักทอเข้าเป็นเนื้อเดียวกันอย่างกลมกลืนและต่อเนื่อง ได้ทำให้หญิงและชายที่เคยเป็นผู้ที่อยู่ในวังวนปัญหาความรุนแรงจากการ “ดื่ม” ในชุมชนนำร่อง มองเห็นศักยภาพของตนเอง และอาสาเข้าร่วมกลุ่มและ เครือข่าย “ผู้หญิงที่ผ่านพ้นปัญหาความรุนแรง” และ “ผู้ชายเลิกเหล้า” ซึ่งเป็นกลุ่มที่จะเป็นกำลังหลักในการสนับสนุนให้เกิดการแก้ไขปัญหาแก่คนอื่น ๆ และนำไปสู่การขับเคลื่อนงานในระดับที่ 4-5 ต่อไป

ขั้นตอนที่ 4 การทำงานกับเครือข่าย เป็นขั้นของการขยายผลไปสู่การสร้างพันธมิตรกับชุมชนใกล้เคียง รวมถึงกลุ่ม องค์กร และชุมชนอื่น ๆ ที่มีความสนใจร่วมกัน เพื่อเสริมให้เกิดความเข้มแข็งทั้งด้านความรู้ ความคิด ประสบการณ์ และเพิ่มพลังความร่วมมือ ตลอดจนอำนาจต่อรองเพื่อบรรลุเป้าหมายสุขภาวะที่ชุมชนต้องการ

✤ ขั้นตอนนี้เกิดขึ้นจากการที่กลุ่มผู้นำความเปลี่ยนแปลงในชุมชนเกิดความตระหนักว่า แม้ตนเองและชุมชนตนเองเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นแล้ว แต่ก็ยังมีขีดจำกัดและเผชิญความไม่ยั่งยืนหากชุมชนรอบ ๆ ไม่เปลี่ยนไปด้วยกัน จึงเริ่มขยายการเปลี่ยนแปลงและสร้างการยอมรับสู่ชุมชนรอบ ๆ เพื่อให้เกิดผลระดับตำบล และหลายพื้นที่ อย่างเช่นอำนาจเจริญ สามารถทำได้ถึงระดับจังหวัด

ขั้นตอนที่ 5 การพัฒนานโยบาย เป็นระดับที่สะท้อนถึงความเข้มแข็งจากภายในของภาคประชาชนในการเรียกร้อง ผลักดัน สนับสนุนให้เกิดโครงสร้าง กฎหมาย นโยบาย มาตรการในระดับต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับเป้าหมายที่ชุมชนต้องการให้เกิดขึ้น 

✤ จะเด็จเชื่อมโยงให้เห็นว่า สิ่งที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงนี้ก็คือการปรับประยุกต์กระบวนการ 5 ขั้นตอน ที่ก่อรูปจากการทำงานกับขบวนการแรงงานหญิงมานานกว่าหนึ่งทศวรรษ ให้เข้ากับประเด็นการทำงานใหม่ในบริบทการพัฒนาเรื่องผลกระทบจากสุราในชุมชน ทว่า มี “แก่น” ของปัญหาเดียวกันนั่นเอง

 “คนที่ติดเหล้ามาก ๆ หรือผู้หญิงที่ถูกกระทำรุนแรง มันมีมิติหนึ่งร่วมกันนั่นคือ ‘ความเป็นมนุษย์’ ถูกทำลายไป ฉะนั้นเราจึงใช้กระบวนการ 5 ขั้นตอนในการกู้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเขากลับคืนมา”

อย่างไรก็ตาม เขาชี้ให้เห็นอีกด้านหนึ่งว่า การนำกระบวนการ 5 ขั้นตอน มาใช้กับปัญหาและบริบทนี้ต้องตระหนักว่า เพียงเท่านี้อาจยังไม่พอที่จะแก้ปัญหาให้ถึงจุดเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนได้

“กระบวนการ 5 ขั้นตอน อาจแก้ปัญหาบางเรื่องไม่ได้ทั้งหมด เพราะกระบวนการนี้แก้ได้เฉพาะเรื่องระบบชายเป็นใหญ่กับความความรุนแรงในครอบครัว และการกู้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้กลับคืนมา แต่ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและชุมชนยัวมีมิติของความยากจนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ฉะนั้น เราต้องใช้วิธีอื่นเสริมเข้ามาด้วย เช่น อาจต้องมีเรื่องการฝึกอาชีพ เพื่อให้เขามีทางเลือกในการพึ่งพาตนเอง”

 ......

“ดังนั้น การนำกระบวนการ 5 ขั้นตอน ไปใช้จึงต้องวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายของเราให้ทะลุทะลวงว่า ปมปัญหามันซ้อนทับกันกี่ชั้น อาจเป็นได้ตั้งแต่ระบบชายเป็นใหญ่ ปัญหาความไม่เป็นธรรมทางสังคม เรื่องของชนชั้น ความยากจน ฯลฯ”

บทความที่เกี่ยวข้อง
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy