(เผยแพร่บทความเมื่อ 25 มิถุนายน 2563)
จากปัญหาการข่มขืนผู้หญิงที่พบเห็นในข่าว และสถิติที่มูลนิธิฯ ได้รวบรวมจากผู้ที่มาร้องเรียน ทำให้เห็นว่าการข่มขืนส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากคนใกล้ตัว ไม่ว่าจะเป็นพ่อเลี้ยงซึ่งเป็นผู้ก่อเหตุมากที่สุด รองลงมาคือญาติผู้ใหญ่ เช่น ลุง น้า อา ตาหรือปู่ และพบว่าผู้หญิงที่ถูกข่มขืนจะมีอายุประมาณ 10 – 20 ปี มากที่สุด รองลงมาคือ อายุต่ำกว่า 10 ขวบ โดยถูกกระทำมานานกว่า 1-2 ปี ซึ่งโดยทั่วไปเด็กจะไม่ยอมออกมาพูด แม้ว่าจะถูกกระทำมาแล้วเป็นระยะเวลานาน ทั้งจากการข่มขู่และใช้อำนาจบังคับไม่ให้พูด เมื่อเด็กไม่ออกมาพูดผู้กระทำความผิดจึงเกิดความย่ามใจที่จะกระทำความผิดต่อผู้อื่นยิ่งขึ้น ส่งผลให้กระทำบ่อยขึ้นจาก 1 ปี เป็น 2 ปี จนกระทั่งเริ่มมีคนสังเกตเห็น
เหตุใดจึงเกิดขึ้นกับเด็ก
สิ่งที่เป็นรากเหง้าของปัญหาในสังคมไทยนั้น จะพบว่ามีการใช้อำนาจที่เหนือกว่า ยกตัวอย่างเช่น ผู้เป็นพ่อจะรู้สึกว่าเลี้ยงดูมา ลูกต้องกตัญญู พ่อให้ทำอะไรก็ต้องฟัง หรือผู้ชายจะถูกปลูกฝังแนวคิดชายเป็นใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความแข็งแกร่ง สามารถเลี้ยงดูและคุ้มครองครอบครัวได้ เมื่อมีความความต้องการทางเพศ ก็รู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องเก็บไว้
บางที “สื่อ” มีการนำเสนอจนดูเป็นเรื่องปกติไป แต่จริง ๆ แล้ว เรื่องแบบนี้ควรตั้งคำถามกับสังคมมากขึ้นให้เห็นถึงรากเหง้าของปัญหาที่ยังมีอยู่
เป็นเรื่องยากที่เด็กจะออกมาร้องเรียนและลุกขึ้นมาพูด มากกว่าคนที่เป็นผู้ใหญ่ เพราะเด็กมีอำนาจน้อย ผู้กระทำมีอำนาจมากกว่า เราจะเห็นว่าเมื่อเด็กไม่พูด หรือไม่กล้าพูด เด็กจึงถูกกระทำอย่างยาวนาน จนกระทั่งมีคนสังเกตเห็น มีหลักฐานปรากฏ จากตัวอย่างกรณีที่เกิดที่จังหวัดสุพรรณบุรี ผู้เป็นพี่สาวที่ออกมาช่วยเหลือเด็ก ภายหลังได้ถูกข่มขู่จากญาติผู้ใหญ่ ยิ่งทำให้เห็นภาพชัดเจนว่าเด็กไม่มีอำนาจมากพอที่จะลุกขึ้นมาพูดได้เลย
การแก้ปัญหา
การข่มขืนได้ทิ้งรอยแผลทั้งทางกายภาพและสภาพจิตใจกับผู้ถูกกระทำอย่างรุนแรง และยังเป็นการทำลายตัวตนความเป็นมนุษย์ของผู้ถูกกระทำ เด็กที่ถูกกระทำความรุนแรงโดยการข่มขืนมีความเสี่ยงสูงต่อการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ โดยเฉพาะในวัยรุ่นอาจนำไปสู่การมีครอบครัวทั้งที่ยังไม่พร้อม ที่สำคัญเราจะวนเวียนอยู่กับปัญหานี้ไม่มีที่สิ้นสุด หากยังไม่แก้ไขกันอย่างจริงจัง
จะเด็จ เชาวน์วิไล
ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล