share

ชุดมายาคติดผิด ๆ เรื่อง "ข่มขืน"

Last updated: 13 Jun 2024
85 Views
 ชุดมายาคติดผิด ๆ เรื่อง "ข่มขืน"

(เผยแพร่บทความเมื่อ 15 มิถุนายน 2563)

1. ผู้กระทำมีความผิดปกติทางจิต เป็นคนชั่ว คนไม่ดี

ข้อค้นพบ : จากข่าวการล่วงละเมิดทางเพศ เราจะพบว่าบ่อยครั้งที่ผู้ก่อเหตุ เป็นครู นักการเมือง คนในครอบครัว เป็นคนที่สังคมให้ความไว้วางใจ นับหน้าถือตา มีภาพลักษณ์ที่ดี เข้าวัดทำบุญ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่มีความผิดปกติทางจิตหรือคนไม่ดีอย่างที่สังคมเข้าใจ และจากรายงานขององค์การสหประชาชาติ เรื่อง การเฝ้าระวังการกระทำความรุนแรงต่อสตรี สำรวจผู้ชายจำนวน 10,000 คน จาก 6 ประเทศในเอเชียที่เคยกระทำความรุนแรงทางเพศต่อผู้หญิง พบว่า 70% ระบุว่า 1 ใน 10 หรือ 10% ยอมรับว่าเคยข่มขืนผู้หญิงที่ไม่ใช่คู่ของตน และในจำนวนหนึ่งยอมรับว่าทำมากกว่า 1 ครั้ง และหากรวมการบังคับข่มขืนคู่นอนของตนเองเข้าไปด้วยจะทำให้อัตราเพิ่มขึ้นเป็น 23%

2. ผู้กระทำต้องเป็นคนแปลกหน้า ไม่รู้จักกันมาก่อน

ข้อค้นพบ : ผู้กระทำส่วนใหญ่เป็นคนที่ผู้เสียหายรู้จัก เช่น เพื่อน เพื่อนบ้าน รวมถึงญาติพี่น้อง และจากรายงานสถานการณ์ความรุนแรงทางเพศ ประจำปี 2560 ที่รวบรวมจากข่าวทางหนังสือพิมพ์ 13 ฉบับ และสถิติการร้องเรียนผ่านมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล พบข่าวความรุนแรงทางเพศ 317 ข่าว ซึ่งผู้ก่อเหตุส่วนใหญ่ร้อยละ 53 เป็นคนรู้จักคุ้นเคยและคนในครอบครัว ทั้งเจ้านาย ครู รุ่นพี่ ลุง อา พ่อ อีกทั้งสถานที่เกิดเหตุส่วนใหญ่ เกิดในที่พักผู้เสียหาย นอกจากนี้ ข้อมูลจากศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระบุว่า ปี 2558 มีเด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศจากคนในครอบครัวถึง 38 ราย ปี 2559 จำนวน 22 ราย และปี 2560 จำนวน 17 ราย ถูกล่วงละเมิดทางเพศจากครูหรือบุคลากรทางการศึกษาในปี 2556 จำนวน 21 ราย ปี 2560 จำนวน 8 ราย

3. ผู้เสียหายที่ถูกข่มขืนเพราะแต่งตัวโป๊ ให้ท่า หรือไม่ก็ไปอยู่ในที่เปลี่ยว

ข้อค้นพบ : โครงการ Don’t tell me how to dress ที่มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลร่วมกับคุณซินดี้ สิรินยา บิชอพ ได้นำเสื้อผ้าของผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศที่ใส่ในวันเกิดเหตุมาจัดแสดง ซึ่งบางชุดเป็นเพียงชุดทำงาน ชุดนอน เสื้อยืดกางเกงขายาว ชุดนักศึกษาทั่วไป และจากประสบการณ์การทำงานของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล พบว่า 80% ของคดีที่เกิดขึ้น ผู้กระทำและผู้เสียหายจะมีความสัมพันธ์เป็นบุคคลใกล้ชิดกัน เช่น พ่อ พ่อกับลูก พ่อกับลูกเลี้ยง ครูกับศิษย์ นายจ้างกับลูกจ้าง เป็นเพื่อน เป็นคนรัก เป็นเพื่อนบ้าน เป็นต้น และการข่มขืนมักเกิดขึ้นในบ้าน โรงเรียน ที่ทำงาน ผู้ถูกข่มขืน 30% เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีแสดงว่าการข่มขืนไม่ได้เกิดจากการแต่งตัวยั่วยวนหรือการไปเดินในที่เปลี่ยว

4. ผู้เสียหายที่ถูกข่มขืน มักชอบเที่ยว ดื่มเหล้า รักสนุก “ผู้หญิงดี ๆ ทั่วไปไม่มีทางถูกข่มขืน”

ข้อค้นพบ : ผู้หญิงทุกคน ทุกวัย ทุกอาชีพ มีโอกาสถูกข่มขืน จากการเก็บข้อมูลขอมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล พบว่า ผู้เสียหายมีอายุน้อยที่สุด คือ 1 ปี 6 เดือน อายุมากที่สุด คือ 80 ปี และเหตุการณ์ข่มขืนจะเกิดขึ้นได้ทุกสถานที่ไม่ว่าจะเป็นบ้านของผู้กระทำ บ้านของผู้เสียหาย ที่ทำงาน ที่สาธารณะ สถานที่เปลี่ยว เป็นต้น

5. "ถ้าถูกข่มขืนจริง" ต้องปรากฏร่องรอยบาดเจ็บให้เห็นตามร่างกาย

ข้อค้นพบ : คดีส่วนใหญ่ไม่มีบันทึกหรือหลักฐานที่แสดงร่องรอยบาดเจ็บตามร่างกาย ในประเทศไทย พบว่า 68% ของผู้เสียหายไม่มีร่อยรอยบาดเจ็บให้เห็นตามร่างกาย ส่วนในประเทศเวียดนาม พบว่า 76% ของผู้เสียหายไม่มีร่อยรอยบาดเจ็บให้เห็นตามร่างกาย และการไม่มีร่องรอยการฟกซ้ำหรือบาดเจ็บไม่ได้หมายความว่าผู้หญิงไม่ได้ถูกข่มขืน บ่อยครั้งที่การข่มขู่ว่าจะใช้ความรุนแรงทั้งกับตัวผู้หญิงเองและกับญาติพี่น้อง ทำให้ผู้หญิงถูกกระทำไม่กล้าต่อสู้

6. ถ้ามีการข่มขืนจริง ผู้เสียหายจะต้องแจ้งความทันทีหลังเกิดเหตุ หากมาแจ้งช้า แสดงว่าไม่ได้ถูกข่มขืนแต่เป็นการสมยอม เมื่อตกลงกันไม่ได้จึงมาแจ้งความ

ข้อค้นพบ : ปัญหาการข่มขืนเป็นเรื่องละเอียดอ่อน คนทั่วไปจะมองว่าเป็นเรื่องเสียหายสำหรับผู้หญิง แม้ว่าจะไม่ยินยอมก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าผู้ถูกข่มขืนเป็นหญิงสาวจะรู้สึกอับอายมาก กลัวเสียชื่อเสียง กลัวถูกคนรักทอดทิ้ง เป็นต้น ประกอบกับสภาพความกดดันที่ต้องประสบหากตัดสินใจไปดำเนินคดี เช่น การสอบสวนต่อหน้าบุคคลอื่น กลัวตกเป็นข่าว บุคลากรกระบวนการยุติธรรมไม่เข้าใจสภาพปัญหา ทำให้รู้สึกกลัวเหมือนถูกข่มขืนซ้ำสอง เหล่านี้เป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้เสียหายต้องใช้เวลาในการพิจารณาไตร่ตรองนาน การแจ้งความช้าหรือเร็วจึงเป็นเหตุการณ์ปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ และไม่ใช่ข้อสรุปว่าหากแจ้งช้าแสดงว่าไม่ได้ถูกข่มขืนจริง

บทความที่เกี่ยวข้อง
7 ข้อเสนอ ที่ทุกองค์กรต้องมีเพื่อจัดการปัญหาการคุกคามทางเพศ
7 ข้อเสนอ ที่ทุกองค์กรต้องมีเพื่อจัดการปัญหาการคุกคามทางเพศ เพราะปัญหาการคุกคามทางเพศเป็นเรื่องละเอียดอ่อน แนวทางเอาผิดทางวินัยของแต่ละองค์กรนั้นยังไม่ละเอียดอ่อนเพียงพอที่จะจัดการกับปัญหานี้ได้
20 Nov 2023
ความสัมพันธ์ทางเพศต้องเกิดจากความยินยอม (Consent)  3 คำจำและนำไปใช้ ASK-LISTEN-RESPECT
Consent หรือการยินยอม คือความเสมอภาคระหว่างเพศ เพราะนั่นหมายถึงความยินยอมพร้อมใจของทั้งสองฝ่าย ทุกครั้งที่มีความสัมพันธ์ทางเพศต้องมีการตกลงกันอย่างชัดเจน
7 Nov 2023
“เพื่อนช่วยเพื่อน” กลุ่มผู้ชายลด ละ เลิกเหล้า ลดความรุนแรงในครอบครัว
กรณีตัวอย่างของการปรับเปลี่ยนผู้ชายที่ใช้ความรุนแรงในครอบครัวที่มีทัศนคติ ค่านิยมแบบชายเป็นใหญ่ โดยอาศัยกระบวนการกลุ่มและการหนุนเสริมที่เข้าใจ และเป็นมิตร ที่เรียกว่า "เพื่อนช่วยเพื่อน" กลุ่มผู้ชายลด ละ เลิกเหล้า ลดความรุนแรงในครอบครัว
28 Sep 2023
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy