รมต.กระทรวงสิ่งแวดล้อมของญี่ปุ่นใช้สิทธิลาคลอด
(เผยแพร่บทความเมื่อ 2 เมษายน 2563)
สร้างแรงกระเพื่อมในสังคมญี่ปุ่นไม่น้อย เมื่อนายชินจิโร โคอิซุมิ รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมของญี่ปุ่น เตรียมลางาน 2 สัปดาห์ เพื่อช่วยภรรยาเลี้ยงลูก ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่รัฐมนตรีของญี่ปุ่นลางานเพื่อไปดูแลลูกที่เพิ่งคลอด แม้ว่าในญี่ปุ่นทั้งผู้หญิงและผู้ชายจะสามารถใช้สิทธิลาคลอดเพื่อเลี้ยงดูบุตรได้นานถึง 1 ปี แต่จากบริบทของสังคม แรงกดดันในการทำงานและการยกย่องคนที่ทำงานหนัก ทำให้ผู้ชายใช้สิทธินี้เพียงแค่ 6% เท่านั้น ในปี 2018
ประเด็นนี้คุณจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ได้ให้ความคิดเห็นไว้ในเฟสบุ๊คส่วนตัวว่า “เห็นด้วยกับการใช้สิทธิลาคลอดของผู้ชาย เพื่อช่วยภรรยาเลี้ยงลูก ถ้าเทียบกับประเทศไทยแล้ว แต่เดิมงานในบ้านถูกสังคมกำหนดว่าเป็นงานของผู้หญิงมาตลอด เพราะค่านิยมชายเป็นใหญ่ที่กำหนดบทบาทไว้อย่างนี้ และบ่มเพาะผ่านครอบครัวสั่งสอนกันมาให้ลูกผู้ชายไม่ต้องทำงานบ้าน เลี้ยงลูกหรือเลี้ยงน้อง งานเหล่านี้เป็นหน้าที่ของผู้หญิงเท่านั้น พอเข้าโรงเรียน หนังสือเรียน หลักสูตรสุขศึกษาก็ยังสอนว่าหน้าที่นี้เป็นของผู้หญิง ในหนังสือมีแต่รูปผู้หญิงทำงานบ้าน และเนื้อหายังบอกอีกว่าเป็นผู้หญิงที่ดีต้องทำงานบ้าน”
“แม้ประเทศไทยจะมีกฎกระทรวงให้ข้าราชการผู้ชายลาไปเลี้ยงลูกในช่วงที่ภรรยาคลอดได้ 15 วัน ซึ่งประกาศใช้มาหลายปีแล้ว แต่ก็ไม่เคยมีรายงานเลยว่ามีข้าราชการชายลาไปเลี้ยงลูกกี่คนต่อปี ดั้งนั้นควรมีการแก้กฎหมายให้ผู้ชายไทยทุกคนไม่ว่าทำงานภาครัฐ หรือเอกชนได้ลาไปเลี้ยงลูกได้แล้ว ระยะเวลาอาจจะต้องคุยดูว่ากี่เดือนถึงเหมาะสม ส่วนกฎหมายให้ผู้หญิงลาคลอดก็ควรมีการแก้ไขให้ผู้หญิงลาคลอดได้เพิ่มจาก 90 วันให้เป็น 180 วัน เพราะกฎหมายนี้ใช้มาเกือบสามสิบปี รัฐบาลและพรรคการเมืองหลายพรรคที่เสนอเรื่องนี้ควรจะขยับ เพื่อความเท่าเทียมระหว่างหญิงชาย ปรับค่านิยมใหม่ ให้ผู้ชายทำงานบ้าน เลี้ยงลูกให้มากขึ้น และที่สำคัญคือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่เกิดมาและจะเป็นกำลังหลักของชาติในอนาคต"
งานบ้านเป็นของทุกคนทำได้ทุกเพศ
......
* ที่มา *