share

ระบบคิด "ชายเป็นใหญ่" ส่งผลสู่ความรุนแรงในครอบครัว

Last updated: 13 Jun 2024
99 Views
ระบบคิด "ชายเป็นใหญ่" ส่งผลสู่ความรุนแรงในครอบครัว

(เผยแพร่บทความเมื่อ 6 กันยายน 2562)

"ผู้ชายเป็นเพศที่แข็งแรงกว่า ชอบทำกิจกรรมที่ใช้พละกำลัง มีอารมณ์หนักแน่น มีความเป็นผู้นำ ผู้ชายมีหน้าที่ทำงานนอกบ้าน หาเงินดูแลครอบครัว ในขณะที่ผู้หญิงมีความอ่อนโยน บอบบาง มีหน้าที่ทำงานบ้าน เลี้ยงดูลูก ดูแลสามี"

เราถูกแบ่งแยกบทบาทหน้าที่และการแสดงออกมาตั้งแต่วัยเด็ก ผ่านแบบเรียนที่ล้าสมัย ส่งต่อมาถึงความคิดแบบชายเป็นใหญ่อย่างไม่รู้ตัว สังคมไทยถูกปลูกฝังทัศนคติแบบชายเป็นใหญ่มาอย่างยาวนาน สมัยก่อนผู้หญิงแทบไม่ได้รับโอกาสที่ทัดเทียมกับผู้ชาย ผู้หญิงส่วนใหญ่ไม่ได้เรียนหนังสือ เพราะถูกสอนว่าเป็นผู้หญิงมีหน้าที่ทำงานบ้าน ต้องอยู่กับเหย้า เฝ้ากับเรือน ส่วนการเรียนนั้นเป็นหน้าที่ของผู้ชาย ผู้หญิงต้องอยู่ในกรอบ ต้องระมัดระวังกริยามารยาท คอยระวังไม่ให้เกิดเรื่องไม่ดีไม่งาม ไม่อย่างนั้นจะเสื่อมเสียมาถึงพ่อแม่ จนเกิดการเปรียบเปรยว่า “มีลูกผู้หญิงก็เหมือนมีส้วมอยู่หน้าบ้าน” ในขณะที่ผู้ชายมีอิสระมากกว่า จะดื่มเหล้า เที่ยวเตร่ เจ้าชู้ ก็ถือเป็นเรื่องปกติ

สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่ลดทอนคุณค่าของผู้หญิง และยกยอความเป็นชายจนเกินเหตุ ทำให้ผู้ชายรู้สึกว่าตนเป็นใหญ่เหนือเพศตรงข้าม กดขี่ และแสดงออกด้วยความรุนแรง แต่ในขณะเดียวกันเราพบว่าผู้ชายก็ถูกทำร้ายด้วยระบบชายเป็นใหญ่เช่นกัน ผู้ชายจำนวนหนึ่งพยายามแสดงออกด้วยลักษณะนิสัยแบบ “ชายเป็นใหญ่” เพื่อให้ดูเป็น “ผู้ชาย” ตามที่สังคมบ่มเพาะมา การหันไปดื่มเหล้า สูบบุหรี่ เล่นการพนัน กดขี่ผู้หญิง นำไปสู่การใช้ความรุนแรงกับคนในครอบครัว และกลายเป็นคนที่สังคมมองว่าเป็นปัญหา เป็นคนไม่ดี ซึ่งต้องยอมรับว่าเราทุกคนตกเป็นเหยื่อของระบบความคิดแบบชายเป็นใหญ่ ไม่ใช่แค่ผู้หญิงเท่านั้น

ผู้ชายหลายคนไม่กล้าเลี้ยงลูก ไม่กล้าทำงานบ้าน เพราะคิดว่าไม่ใช่หน้าที่ของผู้ชาย ทำแบบนี้แล้วดูไม่มีศักดิ์ศรี หรือแม้แต่ในกระบวนการยุติธรรม เมื่อผู้หญิงที่ได้รับความรุนแรงหรือถูกล่วงละเมิดทางเพศเข้าแจ้งความมักจะถูกเลือกปฏิบัติ กดขี่ด้วยถ้อยคำต่างๆ เช่น แต่งตัวโป๊หรือเปล่า ไปทำให้สามีโมโหก่อนไหม ให้ไปคุยกันเอง เป็นเรื่องในครอบครัว ให้ไกล่เกลี่ย ยอมความ ซึ่งทั้งหมดนี้ยิ่งตอกย้ำว่าระบบความคิดแบบชายเป็นใหญ่ยังคงอยู่ในสังคมไทย

การแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และความไม่เท่าเทียมทางเพศจึงต้องแก้ไขด้วยกันทั้งระบบ สิ่งสำคัญคือการลบล้างระบบความคิดแบบชายเป็นใหญ่ และทำให้ผู้ชายได้รับรู้ว่าพวกเขากำลังตกเป็นเหยื่อของระบบนี้ ปรับเปลี่ยนทัศนคติและสร้างความเข้าใจว่าทุกเพศมีความเท่าเทียม เคารพซึ่งกันและกัน ถึงแม้จะเป็นเรื่องยาก แต่ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ อาสาสมัครผู้ชายเลิกเหล้า ลดความรุนแรง ของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ได้พิสูจน์แล้วว่าความคิดเหล่านี้สามารถเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ รวมไปถึงการ ลด ละ เลิกอบายมุข โดยเฉพาะสุราที่เป็นปัจจัยกระตุ้นสำคัญที่ก่อให้เกิดความรุนแรง และก้าวมาสู่การเป็นกระบอกเสียง เป็นแกนนำเพื่อรณรงค์ให้ผู้ชายสลัดความคิดแบบชายเป็นใหญ่ สร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้น

เรายอมรับว่าผู้หญิงกับผู้ชายแตกต่างกันด้านสรีระ แต่ไม่ได้หมายความว่าเรื่องของสิทธิ หน้าที่และโอกาสจะต้องแตกต่างกันด้วย ทุกเพศต้องมีความเท่าเทียมกัน ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่มีคำว่า "ชายเป็นใหญ่"

บทความที่เกี่ยวข้อง
7 ข้อเสนอ ที่ทุกองค์กรต้องมีเพื่อจัดการปัญหาการคุกคามทางเพศ
7 ข้อเสนอ ที่ทุกองค์กรต้องมีเพื่อจัดการปัญหาการคุกคามทางเพศ เพราะปัญหาการคุกคามทางเพศเป็นเรื่องละเอียดอ่อน แนวทางเอาผิดทางวินัยของแต่ละองค์กรนั้นยังไม่ละเอียดอ่อนเพียงพอที่จะจัดการกับปัญหานี้ได้
20 Nov 2023
ความสัมพันธ์ทางเพศต้องเกิดจากความยินยอม (Consent)  3 คำจำและนำไปใช้ ASK-LISTEN-RESPECT
Consent หรือการยินยอม คือความเสมอภาคระหว่างเพศ เพราะนั่นหมายถึงความยินยอมพร้อมใจของทั้งสองฝ่าย ทุกครั้งที่มีความสัมพันธ์ทางเพศต้องมีการตกลงกันอย่างชัดเจน
7 Nov 2023
“เพื่อนช่วยเพื่อน” กลุ่มผู้ชายลด ละ เลิกเหล้า ลดความรุนแรงในครอบครัว
กรณีตัวอย่างของการปรับเปลี่ยนผู้ชายที่ใช้ความรุนแรงในครอบครัวที่มีทัศนคติ ค่านิยมแบบชายเป็นใหญ่ โดยอาศัยกระบวนการกลุ่มและการหนุนเสริมที่เข้าใจ และเป็นมิตร ที่เรียกว่า "เพื่อนช่วยเพื่อน" กลุ่มผู้ชายลด ละ เลิกเหล้า ลดความรุนแรงในครอบครัว
28 Sep 2023
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy