สัญญาณร้าย...ไม่ใช่รัก
ไม่ให้ไปไหนกับคนอื่น หึงหวง เช็คโทรศัพท์ ควบคุมการแต่งตัว ฯลฯ ผู้หญิงส่วนหนึ่งเข้าใจว่าที่ผู้ชายแสดงออกแบบนี้เพราะรัก ยิ่งหวงมากก็ยิ่งมีค่ามาก มองความรักเป็นเรื่องโรแมนติก แต่หากมองให้ลึกนี่คือการกระทำที่แฝงด้วยการใช้อำนาจชายเป็นใหญ่ และเป็นสัญญาณร้ายที่นำไปสู่การใช้ความรุนแรงในครอบครัว
ในสังคมที่ถูกหล่อหลอมมาด้วยระบบคิดแบบชายเป็นใหญ่ ทั้งผู้หญิงและผู้ชายต่างได้รับผลกระทบด้วยกันทั้งนั้น ผู้ชายเองก็เคยชินกับพฤติกรรมการใช้อำนาจเหนือ การบังคับ ควบคุม ครอบครอง หรือถึงขั้นเห็นคนรักเป็นสมบัติส่วนตัว และไม่รู้ตัวว่าพฤติกรรมที่กำลังแสดงออกเป็นสัญญาณของการใช้ความรุนแรง ในขณะที่ผู้หญิงเองก็เข้าใจว่านั่นคือการแสดงออกถึงความรัก หรือคิดว่าเป็นเรื่องปกติ ยิ่งเมื่ออีกฝ่ายบอกว่า ที่ทำไปเพราะรัก ยิ่งทำให้เกิดความหวัง และให้อภัยในทุกครั้ง จนนำไปสู่การใช้ความรุนแรงที่หนักขึ้น
แยกสัญญาณร้ายให้ออก
ลองสังเกตว่าอีกฝ่ายมีพฤติกรรมที่เริ่มเข้าข่ายการควบคุม ข่มขู่ คุกคามหรือไม่ การแสดงออกว่าไม่พอใจด้วยคำพูดรุนแรง ด่าทอ ทำให้รู้สึกไม่มีค่า หรือพฤติกรรมการใช้ความรุนแรงเมื่อดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แม้ยังไม่ถึงขั้นทำร้ายร่างกาย แต่นั่นหมายถึงสัญญาณของการใช้ความรุนแรงในอนาคต แต่ในขณะเดียวกันพฤติกรรมเหล่านี้ก็ถือว่าเป็นความรุนแรงด้วยเช่นกัน เนื่องจากความรุนแรงในครอบครัว มีทั้งระดับคำพูด จิตใจ ร่างกาย หากปล่อยให้สัญญาณเหล่านี้เกิดขึ้นเรื่อย ๆ โดยไม่หาทางออก หรือยุติ อาจนำไปสู่ความรุนแรงที่หนักขึ้นได้ในที่สุด
สิ่งสำคัญคือต้องเข้าใจด้วยว่าความรักไม่ใช่การครอบครอง หรือเห็นอีกฝ่ายเป็นสมบัติส่วนตัว ต้องให้เกียรติและเห็นคุณค่าของกันและกัน
ที่ผ่านมาเคยเจอสัญญาณร้ายอะไรบ้าง
ความรุนแรง มักเกิดจากการกระทำของผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่ากระทำกับผู้ที่มีอำนาจน้อยกว่า ซึ่งเรามักจะพบเห็นได้ เช่น พ่อกระทำต่อลูก เจ้านายกระทำต่อลูกน้อง ครูกระทำต่อศิษย์ นายทหารกระทำต่อพลทหาร เป็นต้น โดยความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัว ส่วนใหญ่ผู้ชายมักกระทำต่อผู้หญิง เนื่องจากแหล่งของอำนาจที่ผู้ชายมีมาจากการอบรมสั่งสอนจากการศึกษา สื่อที่ให้ภาพความเป็นชายสำคัญกว่า หรือวัฒนธรรมความเชื่อ เป็นต้น ดังนั้นสิ่งที่นำไปสู่ความรุนแรงในครอบครัว ประกอบด้วย
1. การหึงหวง ด้วยภาพที่เราพบเห็นได้จากละคร ภาพยนตร์ที่ไม่ว่าจะเป็นแบบคู่ชายหญิง หรือซีรีย์วาย พบว่าพระเอกแสดงออกถึงความรักที่มีต่อนางเอก และมีอาการไม่พอใจ ระแวงหากนางเอกเข้าใกล้บุคคลที่ตนเองคิดว่ามีท่าทีชอบ หรือนางเอกนั้นชื่นชอบ ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือเป็นการละเมิดสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของบุคคลแทนที่จะสื่อสารด้วยเหตุผลว่าเพราะอะไรที่เรารู้สึกเช่นนั้น และเน้นการเคารพในการตัดสินของกันและกัน
2. การบังคับให้แต่งตัวมิดชิด ด้วยสังคมเรานั้นมักกล่าวโทษผู้เสียหาย โดยเราพบว่าหากเกิดกรณีการล่วงละเมิดทางเพศ สังคมมักจะตั้งคำถามกับผู้เสียหายว่า เพราะเธอแต่งตัวโป้ใช่ไหม ด้วยคำพูดดังกล่าวประกอบกับความเป็นห่วง และอำนาจของความเป็นชาย ส่งผลให้ผู้ชายมักบอกให้คู่รักแต่งตัวมิดชิดก่อนออกไปไหน ซึ่งนั่นแสดงให้เห็นว่าเราไม่ได้เคารพในสิทธิเนื้อตัวร่างกายของคู่รักเรา
3. การเช็คโทรศัพท์ โทรศัพท์ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่เราใช้ในการติดต่อสื่อสาร หรือใช้เพื่อความบันเทิง โทรศัพท์เปรียบเสมือนพื้นที่ส่วนตัว ที่บางครั้งก็ไม่ได้อยากให้ใครเขามารุกล้ำ แต่ด้วยสิ่งที่แสดงออกว่าเรารัก เราไม่อยากเสียเขาไป หรือไม่อยากถูกนอกใจ กลับกลายเป็นการรุกล้ำพื้นที่ส่วนตัวของอีกฝ่าย และอาจจะถูกใช้เป็นข้ออ้างสำหรับการแสดงออกถึงความรักได้
4. การข่มขู่ การข่มขู่ส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับคู่รักที่กำลังจะเลิกกัน หรือเลิกกันไปแล้ว แต่ด้วยใครคนใดคนหนึ่งอาจไม่สามารถก้าวข้ามออกมาได้ (Move on) พฤติกรรมที่แสดงออกว่าไม่อยากเสียคนรักไปอาจจะเป็นการของ้อคืนดี แต่มากไปกว่านั้นการข่มขู่จะแสดงออกมา หากคู่รักไม่อยากกลับไปคืนดี เช่น การขู่ว่าจะแฉความลับ การไปหายังที่พักหรือติดตามไปที่ต่างๆ หรือการโพสภาพคู่กับอาวุธ เป็นต้น พฤติกรรมเหล่านี้แสดงถึงความไม่ปลอดภัยในชีวิต และเป็นการละเมิดสิทธิ ไม่ใช่พฤติกรรมการแสดงออกว่ายังรัก
5. การให้แยกตัวออกจากเพื่อนหรือห้ามไปไหนกับคนอื่น การที่คู่รักของเรานั้นให้เราเลือกสิ่งใดสิ่งหนึ่งถือเป็นการแสดงอำนาจอย่างชัดเจน เนื่องจากการที่บุคคลใดมีอำนาจกำหนดให้เราเลือกได้แค่สิ่งที่เขากำหนดถือว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่ใช่การแสดงออกถึงความรัก
6. การทำลายข้าวของ เมื่อคู่รักทะเลาะกันการแสดงออกถึงความไม่พอใจ ผิดหวัง ซึ่งอาจนำมาสู่วิธีการในการระบายอารมณ์ หนึ่งในพฤติกรรมอาจเป็นการทำลายข้าวของ ซึ่งหมายถึงการทำลายทรัพย์สิน หรือของรักของอีกฝ่าย โดยพฤติกรรมดังกล่าวเป็นพฤติกรรมที่แสดงถึงอำนาจว่าฉันสามารถทำอะไรก็ได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงความรู้สึกของอีกฝ่าย
7. การเมาเหล้าแล้วกระทำความรุนแรง หนึ่งในสัญญะของระบบคิดแบบ ชายเป็นใหญ่ คือการดื่มเหล้า เสพยาเสพติดไม่ว่าทั้งหญิงหรือชายเพื่อสร้างการยอมรับ แสดงตัวตนในสังคม ซึ่งนำมาสู่การขาดสติ และด้วยพฤติกรรมที่คิดว่าตนเองมีอำนาจก็อาจนำไปสู่การกระทำความรุนแรงได้ และการดื่มเหล้าจนเมาเป็นการแสดงถึงความไม่รับผิดชอบทั้งต่อตนเอง เพื่อน หรือแม้แต่คนในสังคม และอาจจะนำไปสู่ความเสี่ยงต่อการเกิดความรุนแรงในครอบครัวได้
8. การทำร้ายร่างกายตัวเองและพูดว่าทำไปเพราะรัก คู่รักที่กำลังจะเลิกรา เมื่อบุคคลหนึ่งไม่อยากให้อีกฝ่ายไปและต้องการกล่าวโทษว่าเป็นความผิดของอีกฝ่าย การทำร้ายร่างกายตนเองเพื่อแสดงออกว่าผิดหวังในความรักนั้น ถือว่าเป็นการไม่รับผิดชอบ และไม่เคารพในการตัดสินใจของอีกฝ่าย
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของพฤติกรรมที่เราอาจมองว่ามันคือความรัก ความโรแมนติกที่อีกฝ่ายทำกับอีกฝ่าย แต่หารู้ไม่ว่าพฤติกรรมเหล่านี้เป็นการแสดงออกซึ่งอำนาจที่ว่า ฉันสามารถกระทำต่อเธอได้ เพราะเธอคือสมบัติของฉัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจจะเกิดความคิด ความเชื่อส่งผลให้เรามีกรอบที่ให้คุณค่ากับสิ่งเหล่านี้ว่าคือความรัก มากกว่าคู่รักจะสื่อสารอย่างเป็นเหตุเป็นผล เคารพในการตัดสินใจของอีกฝ่าย และหากไม่สามารถไปต่อได้ก็เลิกรากันด้วยดี