share

เวทีดีเบต นโยบายพรรคการเมืองเพื่อการแก้ไขปัญหาความรุนแรงฯ

Last updated: 13 Jun 2024
436 Views
เวทีดีเบต นโยบายพรรคการเมืองเพื่อการแก้ไขปัญหาความรุนแรงฯ

(เผยแพร่ข่าวสาร เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2566)

มื่อวันที่ 26 เม.ย. 2566 ที่อาคารเทพทวารวดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ คณะนิติศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ และคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล, มูลนิธิเด็ก เยาวชน และครอบครัว, สมาคมเพศวิถีศึกษา, มูลนิธิธีรนาถ กาญจนอักษร, สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ จัดเวทีดีเบต เลือกตั้ง 66 ประชันวิสัยทัศน์ 6 ประเด็นคำถาม ‘นโยบายพรรคการเมืองกับความหวังในการแก้ปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก ผู้หญิง และครอบครัว’ โดยมีนางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. เป็นประธานเปิดกิจกรรม มี 8 พรรคการเมืองเข้าร่วม ได้แก่ คุณณัฐวุฒิ บัวประทุม พรรคก้าวไกล คุณธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ พรรคไทยสร้างไทย คุณรัชดา ธนาดิเรก พรรคประชาธิปัตย์ คุณนฤมล รัตนาภิบาล พรรคพลังประชารัฐ คุณชานันท์ ยอดหงษ์ พรรคเพื่อไทย คุณอนุสรี ทับสุวรรณ พรรคภูมิใจไทย ว่าที่ ร.ต.อ.อัยรดา บำรุงรักษ์ พรรครวมไทยสร้างชาติ และคุณกรกนก คำตา พรรคสามัญชน

นางภรณี กล่าวว่า ความรุนแรงบนฐานเพศเป็นปัญหาที่ สสส. ต้องการจัดการให้หมดไป หลังพบข้อมูลสำคัญจากแผนงานสุขภาวะผู้หญิง ชี้ให้เห็นช่องโหว่กฎหมายและการคุ้มครองสิทธิผู้ที่ได้รับความรุนแรง เช่น ขาดผู้ปฏิบัติงานวิชาชีพที่มีความรู้ ทัศนคติ ความเชี่ยวชาญ, ขาดการช่วยเหลือ เยียวยา ฟื้นฟูระยะยาว, ขาดสหวิชาชีพประสานงานข้ามหน่วยงานเป็นระบบ และขาดสถานการณ์ความรุนแรงที่เป็นข้อมูลปัจจุบัน ขณะที่กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว เผยว่าความรุนแรงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เฉลี่ยปีละ 1,564 คน/ปี หรือ 130 คน/เดือน มีปัจจัยจากยาเสพติด สุรา พนัน หย่าร้าง หึงหวง และความเครียดจากพิษเศรษฐกิจ ทำให้ สสส. ทำงานเชิงรุกเพื่อต่อสู้กับปัญหาความรุนแรงในสังคมไทยอย่างเข้มข้น

นางภรณี กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน สสส. สานพลัง 7 ภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนงาน 3 ด้าน 1.ขับเคลื่อนนโยบายระดับชาติ เช่น จัดสวัสดิการให้เด็ก ผู้หญิง ครอบครัวที่ยากลำบาก ผลักดันนโยบายระดับอำเภอและจังหวัด ป้องกันและลดความรุนแรงต่อผู้หญิงในท้องถิ่น 2.ขับเคลื่อนความรู้และงานวิชาการ เช่น จัดทำคู่มือแนวทางช่วยเหลือผู้เสียหาย คู่มือพัฒนาทีมสหวิชาชีพ คู่มือคุ้มครองสวัสดิภาพคนในครอบครัว 3.ขับเคลื่อนการสื่อสารและพัฒนาภาคีเครือข่าย เช่น พัฒนาแกนนำผู้หญิง จิตอาสาที่เคยเจอความรุนแรง ช่วยเหลือเรื่องการต่อสู้คดีและการเยียวยา แต่นอกจากภาคประชาสังคมที่ร่วมกันผลักดัน การที่มีนโยบายที่ดีจะเป็นฟันเฟืองที่แข็งแกร่ง ในการทำให้ความรุนแรงหมดสิ้น หรือดีขึ้น

“เวทีดีเบตเลือกตั้ง 66 ครั้งนี้ จะช่วยชี้ชะตาอนาคต ในการแก้ปัญหาความรุนแรง ข้อสรุปต่างๆ จะเป็นเข็มทิศช่วยให้ สสส. สำรวจและขยายสถานการณ์ความรุนแรงทุกมิติร่วมกับภาคีเครือข่ายได้มากขึ้น เพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายได้ตรงประเด็น และอุดรอยรั่ว ช่องโหว่ของกฎหมายคุ้มครองสิทธิผู้ที่ได้รับความรุนแรงได้ตรงจุดและทำได้จริง ซึ่งแนวคิดจากพรรคการเมือง จะถูกนำมาเป็นฐานข้อมูลประกอบ สู่การพัฒนาสุขภาวะป้องกันความรุนแรงได้ต่อไปในอนาคต” นางภรณี กล่าว

ดร. วราภรณ์ แช่มสนิท เลขาธิการสมาคมเพศวิถีศึกษา กล่าวว่า ในการหาเสียงครั้งนี้ไม่ค่อยได้ยินพรรคการเมืองพูดถึงแนวทางแก้ปัญหาความรุนแรงทางเพศ และความรุนแรงในครอบครัวอย่างจริงจังและเป็นระบบ ทั้งที่เป็นปัญหาใหญ่ในสังคมไทย ดังนั้นเครือข่ายจึงจัดเวทีรับฟัง และมีข้อเสนอต่อพรรคการเมือง ดังนี้ 1.เร่งแก้ไขกฎหมายคุ้มครองผู้ถูกกระทำรุนแรงของประเทศไทย ให้เป็นไปตามหลักสากลว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหาย บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง 2.ประกาศให้การขจัดปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว เป็นนโยบายเร่งด่วนระดับประเทศ และปรับปรุงแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาความรุนแรงฯ ให้มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน ปฏิบัติได้จริง 3.จัดตั้งกลไกหลักระดับประเทศ เพื่อพัฒนาและบริหารจัดการระบบงานแก้ไขปัญหาความรุนแรง ปฏิบัติงานแบบสหวิชาชีพ พัฒนาระบบฟื้นฟูเยียวยาผู้ถูกกระทำในระยะยาว และแก้ไขพฤติกรรมผู้กระทำรุนแรง ควบคู่กับการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า 4. ปรับปรุงการบริหารกำลังคน เพิ่มผู้ปฏิบัติงานแก้ไขปัญหาความรุนแรงให้เพียงพอ ครอบคลุมทุกวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง พร้อมเสริมทัศนคติ ความรู้ และทักษะที่จำเป็น 5.จัดสรรงบประมาณแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเพียงพอ และสนับสนุนทรัพยากรแก่องค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาความรุนแรง 6.มีมาตรการเชิงรุกเพื่อป้องกันปัญหาความรุนแรงในระยะยาว ควบคู่กับการแก้ไขปัญหา

ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดีนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัญหาความรุนแรงในสังคมไทยทวีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งในครอบครัว โรงเรียน ระหว่างสามี ภรรยา คู่รัก และเกิดขึ้นในคนที่อายุน้อยลง แต่ในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้พรรคการเมืองต่างๆ มีการพูดถึงสวัสดิภาพและความปลอดภัยของประชาชนน้อย ทั้งๆ ที่เป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของทุกคนที่ควรได้รับตั้งแต่แรกเกิด ดังนั้น 3 คณะของจุฬาฯ จึงร่วมกับภาคประชาสังคมจัดเวทีวันนี้ขึ้น โดยมีความคาดหวัง 3 ประการคือ 1. หวังว่าผู้แทนพรรคการเมืองไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้าน หรือฝ่ายรัฐบาลในอนาคต จะตระหนักถึงปัญหาความรุนแรง ที่ทับซ้อนในปัญหาความรุนแรง ขณะที่กลไกภาครัฐ ภาคประชาสังคม และอื่นๆ ที่ยังขาดการเชื่อมต่อ จึงขอให้พรรคการเมืองและสังคมเห็นปัญหา ตระหนักคิดร่วมกัน ตรงนี้จะนำมาสู่ข้อ 2. การปรับปรุงกลไกต่างๆ เพื่อสวัสดิภาพและความปลอดภัย และ 3 อยากเห็นนโยบายทิศทางของพรรคการเมืองว่าจะแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างไร

สำหรับผู้แทนพรรคการเมืองทั้ง 8 พรรค ที่ได้รับฟัง และร่วมกันแสดงความเห็น ทั้งหมดรับดำเนินการต่างๆ สอดคล้องกับสิ่งที่เครือข่ายเสนอ แต่ในเรื่องของรายละเอียดอาจจะมีความแตกต่างกันบ้าง โดยระบุว่าสิ่งที่จะทำใน 100 วันแรกหากเป็นรัฐบาล ซึ่งพรรคก้าวไกลระบุว่าจะมีการอบรมทัศนคติและการสื่อสารของผู้เกี่ยวข้อง จะตั้งกรรมมาธิการเสมอภาคทางเพศ แก้ไขกฎหมายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ให้ผู้ปกครองต้องไม่ลงโทษเด็กด้วยความรุนแรงทั้งร่างกายและจิตใจ แก้ไขนิยาม การลงโทษ การคุกคามทางเพศ ตลอดจนสร้างกลไกรองรับที่เป็นมิตร ขณะที่พรรคสามัญชนจะซักซ้อมความเข้าใจ ขั้นตอนการปฏิบัติของผู้ดูแลป้องกันความรุนแรง โดยคำนึงถึงผู้ถูกกระทำในทุกมิติ ให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรม และการเยียวยา พรรคไทยสร้างไทย จะมีการตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้หญิงและเด็ก 878 อำเภอ

ขณะที่พรรครวมไทยสร้างชาติจะส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนให้ดูแลกันได้ และแก้ไขกฎหมายให้มีและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ จะผลักดันให้การแก้ปัญหาความรุนแรงเป็นวาระแห่งชาติ ตลอดจนบูรณาการทุกภาคส่วน ปรับทัศนคติชายเป็นใหญ่ จัดประเมินหลักสูตรเรียนสอน บรรจุตำรวจหญิงเพิ่มขึ้น ขับเคลื่อนมาตรการป้องกัน มีศูนย์ป้องกันความรุนแรงระดับตำบล จัดสรรงบฯ สนับสนุนศูนย์พึ่งพิง เพื่อฟื้นฟูผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรงให้ลุกขึ้นยืนได้ สำหรับพรรคภูมิใจไทย ก็จะผลักดันเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ คนที่จะมาเป็นนายกฯ ต้องแถลงต่อสภาอย่างจริงจัง และถ้าเลือกได้ก็อยากดูแลหน่วยงานที่ดูแลปัญหานี้ อาทิ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ ปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ด้านพรรคพลังประชารัฐ ระบุว่าต้องหาเจ้าภาพป้องกันการใช้ความรุนแรงต่อเด็กและครอบครัว ตั้งสำนักงานสุขภาพจิตและป้องกันความรุนแรง บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และพรรคเพื่อไทย จะรื้อฟื้นศูนย์ช่วยเหลือสังคม รับเรื่องราว พัฒนาระบบออนไลน์ สายด่วน 1300 เชื่อมประสานทุกกลุ่มเร่งด่วน พัฒนาระบบบ้านพักฉุกเฉิน และพัฒนากองทุนพัฒนาบทบาทสตรี

......
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
https://tna.mcot.net/social-1161314
บทความที่เกี่ยวข้อง
จี้ประกันสังคมเพิ่มสิทธิลาคลอด 180 วัน ปรับเพิ่มเงินคลอด 30,000 บาท
มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมด้วยแกนนำเครือข่ายขับเคลื่อนกฎหมายลาคลอด 180 วัน กว่า 30 คน เข้ายื่นหนังสือถึงคณะกรรมการประกันสังคมเสนอข้อเรียกร้องเกี่ยวกับสิทธิในการลาคลอดจาก 98 วัน เป็น 180 วัน พร้อมเพิ่มเงินคลอดบุตรเป็น 30,000 บาท
14 Aug 2024
เรียนรู้ 9 สัญญาณอันตราย (9 Warning Signs) วันที่ 17 กรกฎาคม 2567 ที่มหาวิทยาลัยรังสิต
มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับ YSL Beauty จัดเวิร์คช็อป เรียนรู้ 9 สัญญาณอันตราย (9 Warning Signs) ที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงในคู่รัก ภายใต้โครงการ Abuse is Not Love โดย YSL Beauty เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2567 ที่มหาวิทยาลัยรังสิต
26 Jul 2024
เรียนรู้ 9 สัญญาณอันตราย (9 Warning Signs) วันที่ 12 มิถุนายน 2567
มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับ YSL Beauty จัดเวิร์คช็อป เรียนรู้ 9 สัญญาณอันตราย (9 Warning Signs) ที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงในคู่รัก ภายใต้โครงการ Abuse is Not Love โดย YSL Beauty เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2567
16 Jul 2024
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy