(เผยแพร่ข่าวสาร เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2565)
ในห้วงเวลาที่ผ่านมา สังคมไทยยังคงมีปัญหา “ความรุนแรง” ทั้งที่มีรายงานข่าวผ่านช่องทางสื่อต่าง ๆ แต่ก็มีปัญหาอีกจำนวนมากที่ยังซุกอยู่ใต้พรม ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าการดำเนินการป้องกัน แก้ไข เยียวยา อาจจะยังไม่ครอบคลุมทุกตารางนิ้วของประเทศ ด้วยข้อจำกัดทางด้านงบประมาณ และกำลังคน ดังนั้นจึงเป็นที่มาให้ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ร่วมกันเดินหน้าจัดทำคู่มือการพัฒนางานคุ้มครองสวัสดิภาพบุคคลในครอบครัว เพื่อหวังเป็นต้นแบบนำไปสู่การเรียนรู้และจัดการกันเองของชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ
คุณอังคณา อินทสา มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ระบุว่า การทำงานเรื่องความรุนแรงต่อผู้หญิง และเด็กในชุมชนส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะการช่วยเหลือแบบเคสบายเคส โดยต้องทำต่อเนื่องทั้งเรื่องการเฝ้าระวัง ป้องกัน แก้ไข และเยียวยา ควบคู่กันไปด้วย จากนั้นจึงสร้างการรวมกลุ่มและร่วมกันแก้ไขปัญในระดับชุมชนต่อไป ซึ่งทางมูลนิธิฯ ได้ทำเรื่องนี้มานาน และถอดบทเรียนกันมาเรื่อย ๆ เป็นองค์ความรู้ออกมาเป็นคู่มือ
การทำงานหลัก ๆ จะเน้นอยู่ 4-5 ส่วน คือ
1.เรื่องคนทำงาน ทีมทำงาน ไม่ว่าจะเป็นทีมที่เป็นทางการ หรือทีมอย่างไม่เป็นทางการก็ได้ ขอเพียงมีความสนใจที่อยากจะแก้ไขปัญหา
2. ต้องรู้จักรูปแบบของความรุนแรง ความหมายของความรุนแรง ซึ่งไม่ได้มีเฉพาะความรุนแรงทางกายเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการทำความรุนแรงทางจิตใจ ความรุนแรงที่แฝงเร้นจากคำพูด
3. รู้จักกระบวนการในการทำงาน
4. มีแบบประเมินความเข้าใจต่อความรุนแรง เพื่อจะได้มีความข้าใจที่จะประเมินความรุนแรงในชุมชนของตัวเองได้มากขึ้น กว้างขึ้น
5. การพัฒนารูปแบบความช่วยเหลือ ตรงตามระดับของความรุนแรงแต่ละประเภท เป็นต้น
“การออกคู่มือเพื่อหวังผลให้มีการนำไปขยายการทำงานในพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศต่อไป ที่นอกเหนือจากพื้นที่นำร่อง ทำให้พื้นที่อื่น ๆ มองเห็นรูปแบบของปัญหาและวิธีการแก้ไขปัญหาได้เร็วขึ้น เป็นการย่นระยะเวลาในการทำงาน เพราะถ้าไม่มีคู่มือ หรือต้นแบบแล้วอาศัยประสบการณ์การทำงานจริง ต้องใช้เวลานานหลายปี”
ที่ผ่านมามูลนิธิฯ ให้การช่วยเหลือผู้ถูกกระทำความรุนแรง และเก็บข้อมูลที่มีการเผยแพร่ผ่านสื่อต่าง ๆ พบว่าในแต่ละปีมีการกระทำความรุนแรงกว่า 400-500 ข่าว อันดับหนึ่งเป็นการฆ่ากันในครอบครัว ฆ่ายกครัว กรณีทำร้ายร่างกายกัน ผู้กระทำส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย เกิดกับทุกกลุ่มอาชีพ และมีความรุนแรงมากขึ้น แต่การแก้ไข ป้องกันปัญหา ที่ผ่านมาหน่วยงานต่าง ๆ จะเน้นไปที่การรณรงค์มากกว่า ซึ่งยังไม่เพียงพอ เพราะปัญหาจริง ๆ มาจากปัญหาเชิงอำนาจ เรื่องทัศนคติชายเป็นใหญ่ ความรู้สึกภรรยาเป็นสมบัติที่สามารถใช้ความรุนแรงได้ ประกอบกับมีเรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสารเสพติดเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ดังนั้นจึงต้องเพิ่มการทำงานกับพื้นที่ให้มาก ปรับทัศนคติผู้กระทำซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ชายให้เกิดความเคารพในสิทธิเนื้อตัวร่างกาย ตลอดจนปลูกฝังเรื่องนี้ตั้งแต่พื้นฐานในระบบการเรียนการสอนในวัยเด็ก โตมาไม่ใช้ความรุนแรง เชื่อว่าคู่มือที่ออกมาจะช่วยให้พื้นที่มีความเข้าใจปัญหา และแก้ไขปัญหาในพื้นที่ของตนได้มากขึ้น
“คุณภรณี ภู่ประเสริฐ” ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. ระบุว่า เรื่องนี้ สสส. เข้ามาให้การสนับสนุนอยู่ 3 ส่วนคือ
1.การจัดทำสถานการณ์ความรุนแรงในประเทศไทยให้เป็นที่ประจักษ์มากขึ้น ซึ่งเป็นข้อมูลที่สอดคล้องกับโรงพยาบาลรามาธิบดี และ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ซึ่งพบการคุกคาม ไม่ให้เกียรติ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ คนที่อ่อนแอไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้หญิง ผู้พิการในครอบครัว โดยช่วงการระบาดของโรคโควิด–19 สถานการณ์มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น 10%
2. การทำคู่มือสำหรับกลุ่มวิชาชีพต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการคดีความ รวมถึงคู่มือสำหรับชุมชน เพื่อการเฝ้าระวังในพื้นที่ และเป็นต้นแบบให้กับพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป ให้สามารถประเมินระดับความรุนแรงและให้การช่วยเหลือได้ และ
3. สนับสนุนการสื่อสาร ทำความเข้าใจ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งต้องทำเรื่อย ๆ เป็นระยะ ๆ ผ่านช่องทางการสื่อสารต่าง ๆ
“ปัญหาความรุนแรงมาจากรากวิธีคิด วัฒนธรรมความเชื่อของคนในสังคมไทย วิธีคิดชายเป็นใหญ่ คนมีอำนาจเหนือกว่าซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมากตามสถานการณ์ เศรษฐกิจ สภาพแวดล้อม การยั่วยุของสื่อต่าง ๆ คนมีเสรีภาพในการเสพสื่อ หากคนมีภูมิคุ้มกันไม่ดีพอ ก็มีความเสี่ยง ยิ่งหากไปบรรจบกับคนที่ไม่รู้สิทธิเนื้อตัว หากเราไม่ทำอะไรเลยยิ่งจะแย่ลงไปกว่านี้ และความรุนแรงอาจจะกลายเป็นเรื่องธรรมดาในสังคมไทย ดังนั้นจึงเป็นปัญหาที่ต้องร่วมมือกันหลายฝ่าย ซึ่งต้องเข้าใจ และมีความละเอียดอ่อนในการจัดการปัญหา สังคมต้องคอยสอดส่องร่วมกัน ผู้ถูกกระทำต้องส่งเสียง”
“ศ.ดร.กิติพัฒน์ นนทปัทมะดุลย์” นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า การออกคู่มือขึ้นมาถือเป็นเรื่องที่ดีและมีประโยชน์มาก แต่ส่วนตัวมองว่ายังขาดเนื้อหาสำคัญอยู่ ซึ่งหลักการของการช่วยเหลือผู้ถูกกระทำ คือป้องกันไม่ให้ถูกกระทำซ้ำ และป้องกันไม่ให้เหยื่อต้องกลายมาเป็นผู้ลงมือกระทำความรุนแรง จากการระเบิดความรู้สึกที่ถูกกดทับ แต่ปัญหาคือหลายต่อหลายครั้งที่มีการเข้าไปให้การช่วยเหลือแล้วแต่ “เหยื่อ” ปิดกั้น สร้างกำแพงขึ้นมา ยังไม่ยอมเอาผิด เพราะคิดว่าหากเรื่องถึงตำรวจจะทำให้ตัวเองลำบาก ครอบครัวจะลำบาก และมองว่าเรื่องของผัวเมีย ก็เหมือนลิ้นกับฟัน ทะเลาะกันเดี๋ยวก็ดีกัน ทำให้หลายต่อหลายคนก้าวไม่พ้นวังวนความรุนแรง และมีจำนวนไม่น้อยที่เผลอตอบโต้ด้วยความรุนแรง กลายเป็นฆาตรกรเสียเอง
ดังนั้นจึงอยากให้คู่มือมีการเพิ่มเนื้อหาในส่วนนี้ เพื่อให้แกนนำรู้ว่าหากเหยื่อปิดกั้นตัวเองจะมีวิธีการสื่อสารทำความเข้าใจอย่างไร ต้องสร้างความมั่นใจให้ผู้ถูกกระทำ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงได้รู้ว่า ตัวเขาเองจะปลอดภัย สามีของเขาจะปลอดภัย และต้องรู้จักวิธีการสื่อสาร ช่วยเหลือ เพื่อให้ผู้หญิงหรือเหยื่อสร้างคุณค่า ดึงศักยภาพ ดึงพลังที่มีออกมาเพื่อป้องป้องคุ้มครองตัวเอง โดยอาจจะมีการยกตัวอย่างเหยื่อที่สร้างพลังให้กับตัวเองจนสามารถหลุดพ้นจากวงจรของการใช้ความรุนแรงได้ เป็นต้น
ขณะที่ “คุณนัยนา ยลจอหอ” ประธานชุมชนวัดสวัสดิ์วารีสีมาราม เขตดุสิต กทม. เล่าว่า เมื่อก่อนชุมชนจะมีปัญหาความรุนแรงมาก ทั้งการทำความรุนแรงทางกาย โดยเฉพาะกรณีสามีทำร้ายร่างกายภรรยา การคุกคามทางเพศ ซึ่งผู้กระทำมีการใช้สารเสพติดและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร่วมด้วย นอกจากนี้ยังมีปัญหาการทำความรุนแรงทางจิตใจ บูลลี่ ตีตรา แต่ช่วงนี้น้อยลง แทบจะไม่มีเลย เพราะที่ผ่านมาเรามีแกนนำชุมชนที่ไปอบรม เสริมทักษะการทำงานแก้ไขปัญหากรณีความรุนแรงกับทางมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ทำให้การทำงานมีความคล่องตัวมากขึ้น ดังนั้นการที่มีการถอดบทเรียนออกคู่มือดี ๆ แบบนี้ขึ้นมา จะช่วยเสริมการทำงานเพื่อป้องกัน แก้ไขปัญหาความรุนแรงในแต่ละพื้นที่ได้อย่างแท้จริง
......
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
https://www.naewna.com/local/678946
https://www.thailandplus.tv/archives/602216
https://www.matichon.co.th/local/news_3553378
https://mgronline.com/politics/detail/9650000086794
https://www.prnewsfocus.com/post/99652
https://www.khaosod.co.th/monitor-news/news_7258264