share

ความรุนแรงทางเพศที่ผู้ถูกกระทำต้องเผชิญหลายชั้น

Last updated: 13 Jun 2024
1216 Views
ความรุนแรงทางเพศที่ผู้ถูกกระทำต้องเผชิญหลายชั้น

(เผยแพร่บทความเมื่อ 19 กันยายน 2565)

“จากการเก็บข้อมูลความรุนแรงทางเพศจากข่าวหนังสือพิมพ์ของมูลนิธิหญิงชายกก้าวไกล ตั้งแต่ปี 2556-2562 พบว่า การข่มขืนยังคงเป็นปัญหาอันดับ 1”

ข่าวปัญหาการใช้ความรุนแรงทางเพศในสังคมไทยนั้นมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งพบว่าผู้ถูกกระทำมักเป็นเยาวชนในช่วงอายุ 6-20 ปี และถูกกระทำโดยคนใกล้ชิดหรือครอบครัวมากกว่าคนแปลกหน้า ผู้กระทำส่วนมากอยู่ในช่วงอายุ 16-30 ปี ซึ่งเป็นบุคคลที่มีสถานะทางสังคม หรือมีวุฒิภาวะมากกว่า โดยอาชีพที่พบผู้กระทำผิดมากที่สุดคือ อาจารย์ ตำรวจ ทหาร นักการเมือง เจ้าของธุรกิจ และยังมีการพบเห็นผู้กระทำเป็นพระสงฆ์ ผู้อยู่ในตำแหน่งหัวหน้าเพิ่มสูงขึ้นด้วย

ข้อมูลเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการคุกคามทางเพศในปัจจุบัน ว่าไม่ได้เกิดจากการใช้ความรุนแรงต่อร่างกายเพียงเท่านั้น แต่เป็นการใช้อำนาจเหนือ มาบังคับข่มขู่ ซึ่งมีความแนบเนียนและทำได้ต่อเนื่องยาวนานมากกว่า สะท้อนถึงปัญหาการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม โครงสร้างความคิด ความเชื่อค่านิยมและมายาคติแบบปิตาธิปไตยที่กดทับผู้ถูกกระทำไว้ ทำให้ไม่กล้าลุกขึ้นมาขอความช่วยเหลือและดำเนินการทางกฎหมาย

“กว่าผู้ถูกกระทำจะกล้าลุกขึ้นมาเพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและจัดการปัญหาทางกฎหมาย ก็ต้องก้าวข้ามจากการถูกกดทับหลายชั้น”

“ชั้นแรก จากผู้กระทำ”

ผู้กระทำมักใช้อำนาจครอบงำจนผู้ถูกกระทำไม่สามารถหนีออกจากความสัมพันธ์นั้นได้ การถูกล่วงละเมิดทางเพศโดยผู้ที่มีอำนาจหรือสถานะเหนือกว่า ทำให้เกิดการบังคับข่มขู่ไม่ให้ออกจากความสัมพันธ์ ส่งผลให้เกิดความกลัวและเกิดบาดแผลทางใจขึ้น ยิ่งในกรณีที่ผู้กระทำเป็นคนใกล้ชิด บวกกับมีการคุกคามมาเป็นระยะเวลานานจนกลายเป็นความสัมพันธ์ ก็ยิ่งจะทำให้ผู้ถูกกระทำรู้สึกว่าไม่อยากให้ผู้กระทำถูกดำเนินการหรือได้รับโทษ นอกจากนี้ผู้ถูกกระทำมักกล่าวโทษตัวเอง เนื่องจากการปลูกฝังมายาคติแบบชายเป็นใหญ่ในสังคม ทำให้ตนเกิดการตั้งคำถามถึงสถานการณ์ที่ได้กระทำหรือมีส่วนร่วม เช่น การพาตนเองไปอยู่ในสถานที่นั้น ๆ หรือการแต่งกาย ส่งผลให้โทษตนเองว่ามีส่วนผิด

“ชั้นที่สอง จากครอบครัวหรือคนใกล้ชิด”

ครอบครัวหลายครอบครัวรู้สึกอับอาย และต้องการให้เรื่องราวจบลงอย่างรวดเร็วเพื่อรักษาหน้าตา เกียรติยศและชื่อเสียง จึงไม่พยายามช่วยเหลือเพื่อให้ผู้ถูกกระทำต่อสู้ในชั้นต่อไป ยกตัวอย่าง กรณีของผู้ถูกกระทำเป็นนักศึกษามหาลัยชื่อดังถูกผู้กำกับ สน. หนึ่งใน กทม. ล่วงละเมิดทางเพศ คุณพ่อของนักศึกษาที่มีอาชีพข้าราชการ บอกให้ผู้ถูกกระทำหยุดพูดถึงความสัมพันธ์เพื่อจบเรื่อง เพราะกลัวผลกระทบต่อตำแหน่งของตนและครอบครัวจะเสียชื่อเสียง ทำให้ผู้ถูกกระทำไม่กล้าที่จะดำเนินเรื่องต่อ ทั้งยังอาจส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตของผู้ถูกกระทำตามมา

“ชั้นที่สาม จากสังคม สื่อ ชุมชน”

เมื่อผู้ถูกกระทำลุกขึ้นมาบอกเล่าถึงเหตุการณ์ที่ตนถูกใช้ความรุนแรงทางเพศ เรามักจะเห็นการตั้งคำถามถึงเหตุการณ์และพฤติกรรมของตัวผู้ถูกกระทำ เช่น ทำไมถึงพึ่งมาแจ้งความ ผู้ถูกกระทำต้องการเรียกร้องเงินหรือเปล่า เป็นต้น ซึ่งดูเหมือนจะเป็นการกล่าวโทษ ตีตรา มากกว่าการตั้งคำถามเพื่อสอบสวนผู้กระทำผิด จากสังคม สื่อ และชุมชน ที่ต่างมีมายาคติในเรื่องของชายเป็นใหญ่ การยกย่องอาชีพที่น่าเชื่อถือหรือผู้มีอำนาจในสังคม ทำให้ไม่เชื่อผู้ถูกกระทำ ที่อาจมีสถานะทางสังคมหรือความน่าเชื่อถือน้อยกว่า

“ชั้นที่สี่ จากกระบวนการยุติธรรม”

เป็นเรื่องยากมาก ที่กว่าผู้ถูกกระทำจะผ่านการกดทับจากชั้นที่กล่าวมาข้างต้นเพื่อข้ามไปสู่ชั้นของกระบวนการยุติธรรม แต่กระบวนการยุติธรรมกลับมีขั้นตอนและวิธีการที่ไม่เป็นมิตร ไม่ได้ช่วยเหลือผู้ถูกกระทำอย่างเหมาะสม ซ้ำยังเป็นการผลักภาระให้แก่ผู้ถูกกระทำ ตั้งแต่การสอบสวน การหาพยานหลักฐาน ตลอดจนกระบวนการในชั้นศาล ที่เน้นไปในแนวทางการไกล่เกลี่ยให้ยอมความเพื่อจบเรื่อง ไม่ได้ส่งเสริมการทวงคืนความยุติธรรมของผู้ถูกกระทำอย่างถึงที่สุด ยังมีเรื่องของสถานที่สอบสวนที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการพูดเรื่องที่ละเอียดอ่อน รวมถึงตัวบุคลากรและเจ้าหน้าที่ดำเนินการเองก็ไม่ได้ถูกอบรมให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องต่อการคุกคามทางเพศ ทำให้ใช้คำถามและแนวทางการตัดสินด้วยมายาคติผิด ๆ และมีอคติทางเพศเข้ามาเกี่ยวข้อง สาเหตุเหล่านี้ส่งผลให้ถึงแม้ผู้ถูกกระทำจะเข้าสู่ขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมแล้ว แต่ก็ไม่สามารถต่อสู้จนจบกระบวนการได้

การกดทับแต่ละชั้นล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ผู้ถูกกระทำหลายคนไม่กล้าออกมาเรียกร้อง หรือมักยอมแพ้ระหว่างทาง และไม่ดำเนินการทางคดีต่อไปจนถึงที่สุด

ทางออกในการแก้ปัญหาคือรณรงค์ทำความเข้าใจในทุกภาคส่วน ลดอคติ ลดโครงสร้างความคิด ลดความเชื่อ ลดค่านิยม มายาคติแบบปิตาธิปไตยฝังราก ทั้งคนในครอบครัว สังคม ชุมชน สื่อ ตลอดจนบุคลากรและขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม เพื่อลดทอนแรงกดทับในแต่ละชั้น ช่วยผลักดันให้ผู้ถูกกระทำมีความกล้าที่จะออกมาขอความช่วยเหลือและเรียกร้องความยุติธรรมให้กับตนเอง ตลอดจนสามารถดำเนินการทางกฎหมายกับผู้กระทำให้ได้รับบทลงโทษจนถึงที่สุด

บทความที่เกี่ยวข้อง
7 ข้อเสนอ ที่ทุกองค์กรต้องมีเพื่อจัดการปัญหาการคุกคามทางเพศ
7 ข้อเสนอ ที่ทุกองค์กรต้องมีเพื่อจัดการปัญหาการคุกคามทางเพศ เพราะปัญหาการคุกคามทางเพศเป็นเรื่องละเอียดอ่อน แนวทางเอาผิดทางวินัยของแต่ละองค์กรนั้นยังไม่ละเอียดอ่อนเพียงพอที่จะจัดการกับปัญหานี้ได้
20 Nov 2023
ความสัมพันธ์ทางเพศต้องเกิดจากความยินยอม (Consent)  3 คำจำและนำไปใช้ ASK-LISTEN-RESPECT
Consent หรือการยินยอม คือความเสมอภาคระหว่างเพศ เพราะนั่นหมายถึงความยินยอมพร้อมใจของทั้งสองฝ่าย ทุกครั้งที่มีความสัมพันธ์ทางเพศต้องมีการตกลงกันอย่างชัดเจน
7 Nov 2023
“เพื่อนช่วยเพื่อน” กลุ่มผู้ชายลด ละ เลิกเหล้า ลดความรุนแรงในครอบครัว
กรณีตัวอย่างของการปรับเปลี่ยนผู้ชายที่ใช้ความรุนแรงในครอบครัวที่มีทัศนคติ ค่านิยมแบบชายเป็นใหญ่ โดยอาศัยกระบวนการกลุ่มและการหนุนเสริมที่เข้าใจ และเป็นมิตร ที่เรียกว่า "เพื่อนช่วยเพื่อน" กลุ่มผู้ชายลด ละ เลิกเหล้า ลดความรุนแรงในครอบครัว
28 Sep 2023
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy