แชร์

ฝ่าวิกฤตโควิด-19 บทบาทมูลนิธิหญิงชายกับเครือข่าย ในวันที่รอคอยความช่วยเหลือจากรัฐไม่ได้

อัพเดทล่าสุด: 13 มิ.ย. 2024
193 ผู้เข้าชม

(เผยแพร่บทความเมื่อ 13 สิงหาคม 2564)

เครือข่ายชุมชนเป็นพื้นที่ที่มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลให้ความสำคัญมาก การแก้ไขปัญหาความเท่าเทียมจากระบบชายเป็นใหญ่ ความรุนแรงในครอบครัว ทุกคนในชุมชนถือว่ามีบทบาทสำคัญ และขับเคลื่อนร่วมกับมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลเสมอมา ในช่วงที่เกิดวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 นี้ มูลนิธิฯ จึงวางแผนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนร่วมกับเครือข่ายชุมชนไว้ 3 ระยะ

  • ระยะสั้น ได้แก่ การมอบอาหาร ถุงยังชีพ
  • ระยะกลาง สร้างความมั่นคงทางอาหาร ทำเกษตรอินทรีย์ เพื่อให้แต่ละพื้นที่ดูแลตัวเองได้ รวมถึงเชื่อมร้อยเครือข่ายทั้งเครือข่ายชุมชนชนบท ชุมชนเมือง และชุมชนแรงงาน
  • ระยะยาว ผลักดันให้เกิดนโยบาย ให้องค์ความรู้ในการป้องกัน ดูแลตัวเองแก่ชุมชน และการนำเสนข่าวเพื่อกระตุ้นให้ภาครัฐเข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหา

บทเรียนจากการระบาดระลอกแรก

ระลอกแรกของการระบาด มูลนิธิฯ ได้ประสานระหว่างเครือข่ายชุมชนชนบท ชุมชนเมือง และชุมชนแรงงาน เพื่อเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนด้านอาหาร โดยชุมชนชนบทที่มุ่งเน้นการผลิตเกษตรอินทรีย์ได้แบ่งปันข้าวสาร ผักปลอดสารพิษ อาหารแห้ง ให้กับเครือข่ายชุมชนเมือง ชุมชนแรงงาน ซึ่งกำลังประสบปัญหาด้านอาหาร ในขณะที่ชุมชนเมืองและชุมชนแรงงานก็เริ่มสร้างความมั่นคงทางอาหาร โดยการใช้พื้นที่ที่พอมีทำเกษตรอินทรีย์เพื่อให้สามารถดูแลตัวเองได้

จากบทเรียนในครั้งนั้น และด้วยความร่วมมือของมูลนิธิชีววิถี หรือ ไบโอไทย จึงได้มีการจัดทำถุงยังชีพ โดยอุดหนุนสินค้าจากเครือข่ายชุมชนชนบท ซึ่งเป็นแหล่งผลิตที่สำคัญ นำไปมอบให้กับชุมชนเมืองและชุมชนแรงงานเพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นและสร้างรายได้ให้กับชุมชนชนบท นอกจากนี้ยังทำให้เครือข่ายสามารถเชื่อมโยงและเกื้อหนุนกันได้อีกด้วย

นอกจากการจัดทำถุงยังชีพแล้ว ยังมีโครงการ “ข้าวไข่เจียวอิ่มสุข” ซึ่งเป็นร้านข้าวไข่เจียวราคาแล้วแต่จะจ่าย ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาด คนไร้บ้าน หรือคนยากลำบากก็สามารถมารับประทานได้ฟรี หรือบางคนก็ถือโอกาสบริจาคเพื่อเป็นทุนในการช่วยเหลือคนอื่นด้วย ข้าวไข่เจียวอิ่มสุขถือเป็นการช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจสำหรับคนรายได้น้อย เพราะหากเป็นการแจกข้าวกล่อง และถุงยังชีพก็ทำได้เพียงระยะสั้น แต่การมีร้านข้าวไข่เจียวลักษณะนี้จะทำให้เกิดการช่วยเหลือกันได้อย่างยั่งยืนมากกว่า

การหนุนเสริมให้องค์ความรู้

เมื่อสถานการณ์หนักขึ้น มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ในขณะที่ระบบการรักษาไม่เพียงพอ ชุมชนจึงต้องดูแลกันเอง สิ่งที่ต้องทำเพิ่มขึ้นคือการเชิญผู้ที่มีความรู้มาให้ข้อมูลกับคนในชุมชน เนื่องจากคนในชุมชนยังมีความเข้าใจผิด มีการตีตรา มีความหวาดระแวง และมีความตื่นกลัว ขาดข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการระบาดของโควิด-19 เรื่องการแบ่งระดับอาการป่วยเป็นสีเขียว สีเหลือง และสีแดง การเข้าสู่ระบบ Home isolation การป้องกันที่ถูกต้อง รวมถึงการใช้สมุนไพร และข้อมูลการฉีดวัคซีน โดยหากไม่สามารถลงพื้นที่ได้ ก็จะใช้การประชุมผ่านระบบออนไลน์ร่วมกับผู้นำชุมชนเพื่อส่งต่อองค์ความรู้ให้กับคนในชุมชนต่อไป

หลักคิดในการทำงานร่วมกับชุมชน

สิ่งสำคัญของการทำงานเชิงลึกในพื้นที่ ไม่ใช่แค่แจกถุงยังชีพหรือบริจาคอาหารแล้วจบ หลักวิธีคิดในการทำงานร่วมกับชุมชนต้องมีการ “เกาะติด ตามต่อ หนุนเสริม” เกาะติดเรียนรู้ร่วมกับชุมชน ตามต่อจนกว่าปัญหาจะได้รับการแก้ไข หนุนเสริมในสิ่งที่ชุมชนขาด ช่วยเหลือในสิ่งที่ชุมชนประสบปัญหา และต้องพัฒนาคู่กันไปเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน พร้อมกับการให้ข่าวเพื่อสื่อสารกระตุ้นภาครัฐให้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาของคนในชุมชนมากขึ้น

ปัญหาจากการบริหารจัดการที่ล้มเหลวของภาครัฐ

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะในพื้นที่ชุมชนเมืองและชุมชนแรงงานมีความน่าเป็นห่วง การรับมือที่ทำได้ค่อนข้างลำบาก โดยเฉพาะการทำงานของภาครัฐที่ไม่เอื้อต่อสถานการณ์ที่เร่งด่วน รัฐไม่มีระบบรองรับกับปัญหาที่เกิดขึ้น ขาดความยืนหยุ่น กลายเป็นการผลักภาระให้ชุมชน หลายชุมชนที่ประสบปัญหา เมื่อเห็นคนในพื้นที่ลำบากหรือติดโควิด-19 คนในชุมชนจะไม่นิ่งเฉย พร้อมเข้าไปช่วยเหลือทันที แต่ก็ทำได้ไม่เต็มที่เพราะยังขาดการสนับสนุนในเรื่องของอุปกรณ์ ทั้งเตียงรักษา ชุด PPE เครื่องวัดออกซิเจน ยารักษา และอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ช่วยในการดูแลผู้ป่วย หรือแม้กระทั่งองค์ความรู้ที่จำเป็น

สถานการณ์ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น ในขณะที่หลายชุมชนเริ่มมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก การช่วยเหลือกันทั้งในชุมชนและระหว่างเครือข่ายชุมชนต่าง ๆ รวมถึงการประสานงานของมูลนิธิฯ จึงยังต้องดำเนินต่อ การรอเพียงความช่วยเหลือจากภาครัฐเพียงอย่างเดียวคงเป็นไม่ได้และไม่ทันต่อสถานการณ์


บทความที่เกี่ยวข้อง
กิจกรรมรณรงค์วันยุติความรุนแรงต่อสตรีและเด็ก มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ร่วมกับ BBDO ร่วมนำเสนอแคมเปญ "Bring Back Second Chance Of Life คืนโอกาสดี ๆ ให้ตัวเอง และเลิกให้โอกาสที่ 2 กับความรุนแรง"
วันที่ 25 พฤศจิกายน ของทุกปี เป็นวันยุติความรุนแรงต่อสตรีและเด็ก ปีนี้มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ร่วมกับ BBDO บริษัทเอเจนซี่แนวหน้า นำเสนอแคมเปญ Bring Back Second Chance Of Life คืนโอกาสดี ๆ ให้ตัวเอง และเลิกให้โอกาสที่ 2 กับความรุนแรง โดยสื่อสารผ่านการกลับมาของ จีจี้ สุพิชชา
25 พ.ย. 2024
7 ข้อเสนอ ที่ทุกองค์กรต้องมีเพื่อจัดการปัญหาการคุกคามทางเพศ
7 ข้อเสนอ ที่ทุกองค์กรต้องมีเพื่อจัดการปัญหาการคุกคามทางเพศ เพราะปัญหาการคุกคามทางเพศเป็นเรื่องละเอียดอ่อน แนวทางเอาผิดทางวินัยของแต่ละองค์กรนั้นยังไม่ละเอียดอ่อนเพียงพอที่จะจัดการกับปัญหานี้ได้
20 พ.ย. 2023
ความสัมพันธ์ทางเพศต้องเกิดจากความยินยอม (Consent)  3 คำจำและนำไปใช้ ASK-LISTEN-RESPECT
Consent หรือการยินยอม คือความเสมอภาคระหว่างเพศ เพราะนั่นหมายถึงความยินยอมพร้อมใจของทั้งสองฝ่าย ทุกครั้งที่มีความสัมพันธ์ทางเพศต้องมีการตกลงกันอย่างชัดเจน
7 พ.ย. 2023
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy