share

"คดี เอ็กซ์-หมอนิ่ม" อุทาหรณ์จากปัญหาความรุนแรงในครอบครัว

Last updated: 13 Jun 2024
93 Views
"คดี เอ็กซ์-หมอนิ่ม" อุทาหรณ์จากปัญหาความรุนแรงในครอบครัว

(เผยแพร่บทความเมื่อ 19 ตุลาคม 2564)

“คดีสังหารเอ็กซ์-จักรกฤษณ์ พณิชย์ผาติกรรม” นักยิงปืนทีมชาติไทย ที่ตกเป็นข่าวใหญ่เมื่อปี 2556 จนเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2564 ซึ่งเป็นระยะเวลา 8 ปี ในการพิจารณาคดี บทสรุปจบลงด้วย ศาลฎีกายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ “ยกฟ้อง” พญ.นิธิวดี ภู่เจริญยศ หรือหมอนิ่ม ขณะที่พฤติการณ์การกระทำผิดของ น.ส.สุรางค์ ดวงจินดา แม่ของหมอนิ่ม ศาลฎีกาเห็นว่า เนื่องจากที่เอ็กซ์กระทำต่อหมอนิ่มครั้งแล้วครั้งเล่า ปัญหาเกิดจากการควบคุมอารมณ์ไม่ได้ และก่อนเกิดเหตุเพียง 2 เดือนก็ยังใช้อาวุธปืนยิงไปทางคนรับใช้และบุตรคนเล็กจนเอ็กซ์ถูกจับ ถูกควบคุมตัวที่เรือนจำ และเพิ่งได้รับการประกันตัวมาไม่นาน มีความไม่แน่นอนว่าเอ็กซ์อาจใช้อาวุธปืนกระทำต่อหมอนิ่มและครอบครัวได้ ดังนั้นการกระทำความผิดของแม่หมอนิ่มจึงเข้าข่ายลักษณะของผู้กระทำความผิดที่ตกอยู่ในความทุกข์อย่างสาหัส จึงมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้แม่หมอนิ่มจากประหารชีวิต เป็นจำคุก 25 ปี

สังคมต้องปรับมุมมอง ทัศนคติ และเรียนรู้ว่าถ้าเกิดกรณีแบบนี้ต้องเห็นใจผู้หญิง หรือคนในครอบครัวผู้หญิงมากกว่าจะมองว่าเขาเป็นคนไม่ดี

บ่อยครั้งที่ความรุนแรงในครอบครัว เกิดจากปัญหาที่สั่งสมมาเนิ่นนาน แม้จะพยายามแก้แต่ก็แก้ไม่ได้ จนทำให้เกิดความรุนแรงถึงแก่ชีวิต ความรู้สึกของคนเป็นแม่เมื่อต้องทนเห็นลูกสาวถูกกระทำผ่านอารมณ์โกรธของฝ่ายชายเป็นเรื่องที่น่ากลัว คนเป็นแม่เมื่อเห็นแบบนั้นบ่อยครั้ง ไม่ว่าใครก็ทนไม่ได้ ซึ่งตรงนี้สังคมต้องเปลี่ยนวิธีคิดว่าถ้าเกิดเรื่องแบบนี้ ควรเห็นใจผู้หญิง หรือคนในครอบครัวผู้หญิงมากกว่าจะมองว่าเขาเป็นคนไม่ดี

ทัศนคติชายเป็นใหญ่ที่ยังมีอยู่ ทำให้สถิติการใช้อำนาจของผู้ชายมีอัตราเพิ่มขึ้น

จากสถิติของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล มีกรณีสามีฆ่าภรรยา หรือภรรยาฆ่าสามีเพิ่มมากขึ้น และสามีไม่ได้ฆ่าแค่ภรรยาตนเองเท่านั้น แต่ยังฆ่าคนในครอบครัวด้วย ในช่วง 2-3 ปีเห็นชัดว่า มีการฆ่ายกครัวเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ แสดงให้เห็นว่า ปัญหาการใช้อำนาจของผู้ชายครอบคลุมไปถึงคนในครอบครัวมากขึ้น สาเหตุของการฆ่า ยังวนเวียนอยู่กับเรื่องเดิม ๆ เกิดจากความหึงหวง ความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ รวมถึงความคิดชายเป็นใหญ่ยังอยู่ในผู้ชายไทยกลุ่มหนึ่ง ซึ่งยังมีอำนาจอยู่ เพราะการฆ่าคนในครอบครัว สถิติไม่ได้ลดลง ทั้งยังเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว

กระบวนการยุติธรรม และการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงตำรวจต้องมีความเข้าใจเรื่องความรุนแรงในครอบครัวมากขึ้น ต้องแก้กฎหมายให้เอื้อกับผู้หญิงที่ถูกใช้ความรุนแรง

เรื่องความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องใหญ่ ไม่ใช่เพียงทัศนคติชายเป็นใหญ่ที่ก่อให้เกิดปัญหา เรื่องนี้ยังสะท้อนถึงการบังคับใช้กฎหมายของตำรวจ เพราะตำรวจหลายคนมองเรื่องครอบครัวเป็นเรื่องส่วนตัว ในบางกรณีเมื่อผู้หญิงไปแจ้งความแต่กลับไม่มีอะไรดีขึ้น เพราะตำรวจบางคนมองว่าเดี๋ยวก็กลับมาคืนดีกัน ซึ่งความคิดแบบนี้ยังมีในสังคมไทย และเมื่อกฎหมายไม่ทำงาน ผู้หญิงก็ไม่สามารถหวังพึ่งใครได้ เมื่อป้องกันตนเองไม่ไหว ก็นำมาสู่การทำร้ายสามี

ต้องมีการปฏิรูปสถาบันตำรวจ มีการอบรมในเรื่องของความรุนแรงในครอบครัวมากขึ้น เมื่อเจอสถานการณ์แบบนี้ตำรวจต้องรับแจ้งความ และช่วยเหลือให้ได้มากที่สุด ทำให้ไม่เกิดการกระทำซ้ำมากที่สุด ดังนั้นการปฏิรูปตำรวจจะทำให้ช่วยลดปัญหาความรุนแรงได้

กรณีหมอนิ่มสะท้อนกลไกทั้งหมดของกระบวนการยุติธรรมที่ไม่มีกลไกช่วยเหลือผู้หญิง ดังนั้นกระบวนการยุติธรรม ต้องมีความเข้าใจในเรื่องนี้ให้มากขึ้น ต้องมีการแก้กฎหมายหลาย ๆ ตัว ต้องแก้กฎหมายให้เอื้อกับผู้หญิงที่ถูกใช้ความรุนแรง และถ้าวันหนึ่งหากผู้หญิงลุกขึ้นมาทำร้ายผู้ชาย จากเงื่อนไขที่ถูกใช้ความรุนแรงในครอบครัว ต้องงดเว้นการดำเนินคดี เหมือนอย่างในหลาย ๆ ประเทศ ที่มีใน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว และหากมีการแก้กฎหมาย กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ควรยึดผู้หญิงเป็นศูนย์กลางในการแก้กฎหมายความรุนแรงในครอบครัว ไม่ใช่ยึดเอาครอบครัวเป็นศูนย์กลาง

คนในสังคมต้องเปลี่ยนทัศนคติ ต้องเรียนรู้ว่าปัญหาความรุนแรงในครอบครัวไม่ใช่เรื่องของคนสองคน หรือมองว่าเป็นเรื่องส่วนตัว

อีกหนึ่งปัญหาที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนคือ ทัศนคติของคนในสังคมยังมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่ควรเข้าไปยุ่ง เป็นเรื่องส่วนตัว เป็นเรื่องที่ต้องแก้ปัญหาด้วยตนเอง ตรงนี้สังคมต้องเรียนรู้ว่าปัญหาความรุนแรงในครอบครัว เป็นเรื่องประนีประนอมไม่ได้ ไกล่เกลี่ยไม่ได้ ถ้าวันหนึ่งผู้หญิงเลือกที่จะไม่อยู่กับผู้ชายแล้ว สังคมต้องเข้าใจ เพราะฉะนั้นต้องเลิกความคิดที่ว่า “เลิกกันไปแล้วลูกจะอยู่อย่างไร“ ได้แล้ว เพราะชีวิตครอบครัวถ้าอยู่ด้วยกันไม่ได้ ไม่จำเป็นต้องมีพ่อแม่ลูก

สังคมต้องเรียนรู้ว่าถ้ามีความรุนแรงเกิดขึ้น ต้องช่วยกันหาทางออก แจ้งเจ้าหน้าที่รัฐ อย่าปล่อยให้ปัญหาเกิดการสะสม เพราะหากสะสมนานขึ้น ความรุนแรงก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และอาจนำไปสู่การฆ่ากันได้ ดังนั้นจะมองเป็นเรื่องส่วนตัวไม่ได้ หรือการที่ผู้หญิงกลับไปคืนดีกับผู้ชาย แทนที่สังคมจะตั้งคำถามว่า “ทำไมไม่ออกจากความขัดแย้ง” มาทำความเข้าใจว่า เขาอาจจะไม่มีงานทำ หรืออาจจะยังห่วงลูกอยู่ ซึ่งตรงนี้สังคมต้องให้ความช่วยเหลือ เพื่อให้ผู้หญิงลุกขึ้นมาหาทางออกได้มากขึ้น

ความรุนแรงในครอบครัวไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นกับตน หรือถ้าหากอาจเกิดขึ้น ต้องหาหน่วยงานช่วยเหลือ อย่าปล่อยให้เกิดซ้ำ

ไม่มีใครอยากให้เกิดความรุนแรงขึ้นกับครอบครัวของตนเอง สิ่งที่ทำได้คือครอบครัวต้องเคารพกัน ทุกคนมีความเป็นมนุษย์เท่ากัน ดังนั้นทุกคนมีความเท่าเทียม ไม่ว่าจะครอบครัวแบบไหนก็ไม่ควรทำร้ายกัน แต่ถ้าหากเลี่ยงไม่ได้ หรือผู้หญิงที่อาจจะเจอสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัว ต้องหาหน่วยงานช่วยเหลือ และอย่าปล่อยให้ความรุนแรงเกิดขึ้นครั้งที่สอง

เรียบเรียงจากบทสัมภาษณ์ คุณจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ในเว็บไซต์ มติชนออนไลน์

บทความที่เกี่ยวข้อง
7 ข้อเสนอ ที่ทุกองค์กรต้องมีเพื่อจัดการปัญหาการคุกคามทางเพศ
7 ข้อเสนอ ที่ทุกองค์กรต้องมีเพื่อจัดการปัญหาการคุกคามทางเพศ เพราะปัญหาการคุกคามทางเพศเป็นเรื่องละเอียดอ่อน แนวทางเอาผิดทางวินัยของแต่ละองค์กรนั้นยังไม่ละเอียดอ่อนเพียงพอที่จะจัดการกับปัญหานี้ได้
20 Nov 2023
ความสัมพันธ์ทางเพศต้องเกิดจากความยินยอม (Consent)  3 คำจำและนำไปใช้ ASK-LISTEN-RESPECT
Consent หรือการยินยอม คือความเสมอภาคระหว่างเพศ เพราะนั่นหมายถึงความยินยอมพร้อมใจของทั้งสองฝ่าย ทุกครั้งที่มีความสัมพันธ์ทางเพศต้องมีการตกลงกันอย่างชัดเจน
7 Nov 2023
“เพื่อนช่วยเพื่อน” กลุ่มผู้ชายลด ละ เลิกเหล้า ลดความรุนแรงในครอบครัว
กรณีตัวอย่างของการปรับเปลี่ยนผู้ชายที่ใช้ความรุนแรงในครอบครัวที่มีทัศนคติ ค่านิยมแบบชายเป็นใหญ่ โดยอาศัยกระบวนการกลุ่มและการหนุนเสริมที่เข้าใจ และเป็นมิตร ที่เรียกว่า "เพื่อนช่วยเพื่อน" กลุ่มผู้ชายลด ละ เลิกเหล้า ลดความรุนแรงในครอบครัว
28 Sep 2023
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy