คนที่ใกล้ชิด ร้ายที่สุด
(เผยแพร่บทความเมื่อ 7 มิถุนายน 2564)
“คดีน้องชมพู่ เด็กหญิงวัย 3 ขวบ” เป็นคดีอาชญากรรมที่อยู่ในความสนใจของสังคม โดยล่าสุดวันที่ 1 มิถุนายน 2564 ศาลจังหวัดมุกดาหารได้มีการออกหมายจับลุงเขยของน้องชมพู่ ตำรวจแจ้ง 3 ข้อหาหลัก และจากรายงานการสืบสวนสอบสวนคดี 3 ประเด็นสำคัญ คือ
- คนร้ายพาเหยื่อไปทิ้งที่ไกล ๆ เพื่ออำพรางคดี คนร้ายใกล้ชิดกับเหยื่อ หากปล่อยให้เหยื่อยังมีชีวิต สามารถชี้ยืนยันตัวเองว่าเป็นผู้กระทำผิด จึงต้องอำพรางคดีเพื่อให้ความผิดพ้นตัว
- ขณะเกิดเหตุน้องชมพู่ อยู่ห่างจากพี่สาว 10 เมตร แต่ไม่ได้ยินเสียงร้อง หากไม่ใช่คนใกล้ชิด น้องชมพู่ซึ่งเป็นคนหวงตัวจะร้องเสียงดังทันที
- จุดพบศพบนภูเหล็กไฟ พบรองเท้า รถแบคโฮของเล่นตกอยู่ ยืนยันว่าน้องชมพู่เต็มใจเดินไปกับคนร้าย มิฉะนั้นของเล่นหรือรองเท้าจะไม่ติดตัวไปถึงจุดพบศพอย่างแน่นอน
รายงานการสืบสวนคดีดังกล่าว ผู้ต้องสงสัยถูกมองว่าเป็นคนใกล้ชิด เครือญาติหรือเป็นคนในครอบครัว สอดคล้องกับสถิติข่าวความรุนแรงในครอบครัวที่พบว่าผู้กระทำเป็นคนใกล้ชิดเพิ่มมากขึ้น
จากการเก็บรวบรวมสถิติข่าวความรุนแรงในครอบครัวจากหนังสือพิมพ์ 10 ฉบับในปี 2561 โดยมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล มีข่าวความรุนแรงในครอบครัวจำนวน 623 ข่าว โดยอันดับ 4 พบข่าวการฆ่ากันระหว่างเครือญาติ จำนวน 53 ข่าว หรือร้อยละ 12 เช่น พี่น้องกระทำต่อกัน ญาติฝ่ายภรรยากระทำต่อเขย หรือการฆ่ากันระหว่างญาติ เป็นต้น และปี 2563 เฉพาะ 6 เดือนแรกของปี (ม.ค.-มิ.ย.63) มีข่าวจำนวน 350 ข่าว พบข่าวการการฆ่ากันระหว่างเครือญาติ จำนวน 25 ข่าว หากเจาะลงไปที่สถานการณ์ความรุนแรงทางเพศในหนังสือพิมพ์ ปี 2560 พบว่ามีข่าวความรุนแรงทางเพศ 317 ข่าวและพบกลุ่มที่ถูกกระทำความรุนแรง คือ กลุ่มเด็กและเยาวชนอายุ 5-20 ปี หรือร้อยละ 60.6 โดยผู้กระทำเป็นคนคุ้นเคยและเป็นบุคคลในครอบครัวถึงร้อยละ 53 ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนบ้าน คนในครอบครัว ครู ลุงเขย น้าชาย เป็นต้น
ความไว้วางใจจากคนใกล้ชิด ทำให้เด็กมีความเชื่อมั่นไม่เกิดความระแวดระวัง และความคิดแบบชายเป็นใหญ่เป็นประเด็นหลักที่ทำให้เกิดปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก
สำหรับ “เด็ก” ความสามารถในการดูแลหรือคุ้มครองตัวเองยังไม่มีเต็มที่ พัฒนาการของเขายังไม่เป็นผู้ใหญ่ ต้องพึ่งพาคนอื่นทั้งการดำรงชีวิต การเรียนรู้ การคิด การตัดสินใจ ไม่มีวุฒิภาวะที่จะระมัดระวังตัวเอง ความเป็นญาติหรือคนใกล้ชิดจะทำให้เด็กหลายคนเกิดความเกรงใจ ไม่กล้าขัดแย้ง
อีกปัจจัยคือวัฒนธรรมทางเพศของผู้กระทำที่คิดว่าตัวเองสามารถแสดงออกหรือมีวิธีการได้มายังไงก็ได้โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้อง และเมื่อมาเจอเด็กกลุ่มเปราะบาง ไม่มีผู้ใหญ่คุ้มครองดูแล จึงทำให้ปัญหาความรุนแรงต่อเด็กปรากฏมากขึ้น รวมถึงความคิดแบบชายเป็นใหญ่ที่ไม่เคารพสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย หากสังเกตจะพบว่าเด็กที่ถูกกระทำความรุนแรงมักจะเป็นเด็กที่ไม่มีพ่อแม่อยู่ด้วย หรืออาศัยอยู่กับพ่อแม่แต่เด็กเป็นผู้มีความเปราะบาง เช่น พิการทางร่างกาย ป่วยทางจิตเวช รวมถึงพ่อแม่ไม่สามารถทำหน้าที่ในการปกป้อง คุ้มครองความปลอดภัยต่อเด็กได้ และผู้กระทำบางรายยังอาศัยความไว้วางใจจากพ่อแม่เด็ก ทำให้สามารถเข้ามาใกล้ชิด ดูแลเด็กได้
ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ “คนใกล้ชิด” กลายเป็นคนที่ร้ายที่สุด การสอนให้เด็กไว้เนื้อเชื่อใจคนใกล้ชิดอาจใช้ไม่ได้อีกต่อไป กลับกันเราต้องสอนให้เด็กรู้จักสิทธิเนื้อตัวร่างกาย ระแวดระวังแม้จะเป็นคนใกล้ชิด ระบบการศึกษาเองก็ควรบ่มเพาะให้เด็กเกิดทักษะ เข้าใจความเท่าเทียม และปรับทัศนคติแบบชายเป็นใหญ่ที่นำไปสู่การใช้ความรุนแรงในอนาคตด้วย