(เผยแพร่บทความเมื่อ 4 มิถุนายน 2564)
งานวิจัยจากทีมนักวิจัยนานาชาติ นำโดย Anne-Marie Laslett จากมหาวิทยาลัย La Trobe ประเทศออสเตรเลีย ได้สำรวจกลุ่มผู้ชาย ระหว่าง 18 – 49 ปี ที่แต่งงานแล้วหรือเคยคบหากับเพศหญิง 9,148 คน จาก 7 ประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ, กัมพูชา, จีน, อินโดนีเซีย, ปาปัวนิวกินี, ศรีลังกาและติมอร์เลสเต เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการดื่มแอลกอฮอล์ กับทัศนคติต่อความเท่าเทียมทางเพศ
จากการศึกษาพบว่า มีชายที่ดื่มแอลกอฮอล์แล้วกระทำความรุนแรงในคู่รัก ทั้งทางร่างกายและทางเพศ 13% อีกทั้งถ้ามีการดื่มหนัก หรือ 6 แก้วขึ้นไปต่อการดื่มในแต่ละครั้ง จะเพิ่มโอกาสทำร้ายคู่ครองจะเพิ่มขึ้น
ซึ่งข้อมูลดังกล่าวเป็นไปในทางเดียวกันกับที่ นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อธิบายไว้ว่า ประเทศไทยแม้จะไม่ได้ศึกษาเรื่องนี้โดยตรง แต่เคยมีการศึกษาในคนทั่วไป พบว่า 80% ได้รับผลกระทบจากคนที่ดื่มแอลกอฮอล์ อาทิ ก่อความรำคาญ รวมทั้งการกระทบกระทั่งกัน
ดังนั้นมาตรการในการปกป้องเพศหญิงจากการถูกคู่ครองทำร้าย จึงต้องมุ่งเป้าไปที่ทั้งการลดการดื่ม และลดทัศคติชายเป็นใหญ่ของสังคมลง
"ถ้าต้องการลดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ก็ต้องแก้ที่สาเหตุ 2 อย่าง คือ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น ทำให้ราคาสูง เพิ่มภาษี จำกัดการเข้าถึง อาทิ การจัดช่วงเวลาและห้ามโฆษณาซึ่งมีอยู่แล้ว แต่ต้องบังคับใช้เข้มข้น และการปรับทัศนคติ ต้องรณรงค์ให้เข้าใจถึงความเท่าเทียมกันของชายหญิงมากขึ้น"
เรียบเรียงจาก เสวนาออนไลน์ "โควิด-19 วงเหล้า และความรุนแรงในครอบครัว วงจรที่ไม่เปลี่ยน" วันที่ 26 พฤษภาคม 2564
......