share

กฎหมายลาคลอด 90 วันมีผลบังคับใช้ จากการต่อสู้ของแรงงานหญิง

Last updated: 13 Jun 2024
89 Views
กฎหมายลาคลอด 90 วันมีผลบังคับใช้ จากการต่อสู้ของแรงงานหญิง

(เผยแพร่บทความเมื่อ 1 พฤษภาคม 2564)

นอกจากวันนี้ (1 พฤษภาคม) จะเป็นวันแรงงานแล้ว เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2536 ยังเป็นวันที่กฎหมายลาคลอด 90 วันมีผลบังคับใช้อีกด้วย

ย้อนกลับไปเมื่อ 2534 องค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงาน สหภาพแรงงาน ลงพื้นที่จัดกลุ่มศึกษาให้กับกลุ่มแรงงานหญิงและพบว่าหนึ่งในปัญหาสำคัญคือการลาคลอด สมัยนั้นการลาคลอดเป็นเรื่องยากลำบาก แรงงานหญิงบางคนไม่กล้าบอกว่าตั้งครรภ์เพราะกลัวจะถูกพักงาน บางรายไม่กล้าลาไปพบแพทย์ เพราะหากลาก็จะถูกตัดสิทธิเบี้ยขยัน หรือสิทธิอื่น ๆ บางรายก็ถูกเลิกจ้างหลังจากลาคลอด ทำให้แรงงานหญิงต้องทำงานหนักขึ้นในขณะตั้งครรภ์จนส่งผลกระทบถึงสุขภาพ บางรายถึงขั้นแท้งบุตร

ในช่วงนั้นมีแกนนำและเครือข่ายแรงงานหญิงย่านอ้อมน้อย อ้อมใหญ่ พระประแดง และรังสิต ที่รวมตัวกันอย่างเข้มแข็ง จึงใช้โอกาสวันสตรีสากล 8 มีนาคม 2534 เรียกร้องให้เกิดกฎหมายลาคลอด 90 วัน ซึ่งในขณะนั้นรัฐบาลได้รับแนวทางนี้ไปปฏิบัติกับข้าราชการหญิงก่อน ทำให้แรงงานหญิงยังคงไม่ได้รับสิทธิลาคลอด 90 วัน ดั่งที่ได้เรียกร้องไป

หลังจากนั้นเครือข่ายแรงงานหญิง องค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงาน ด้านผู้หญิง ด้านเด็ก องค์กรแรงงาน สหภาพแรงงาน นักวิชาการ ร่วมกันเคลื่อนไหว เรียกร้องกฎหมายอย่างต่อเนื่อง เป็นเวลากว่า 2 ปี จนกระทั่งในปี 2536 มีการวางแผนการเคลื่อนไหวอย่างจริงจัง

ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2536 มีการก่อตั้งสมัชชาแรงงานหญิงโดยแกนนำแรงงานหญิงกว่า 500 คน ต่อเนื่องด้วยการเคลื่อนไหวรณรงค์กับหน่วยงานต่าง ๆ ของภาครัฐ

7 มีนาคม 2536 เครือข่ายกว่า 1,000 คน เข้ายื่นหนังสือต่อ นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ส่งผลให้เกิดกระแสสังคมอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะยังไม่ได้รับการตอบรับจากรัฐบาลแต่เครือข่ายก็ยังคงมีการรณรงค์อย่างต่อเนื่อง และเข้มข้นมากขึ้น

25 เมษายน 2536 เครือข่าย ปักหลักชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาลแรงงานหญิงประกาศอดข้าวประท้วง การชุมนุมเริ่มทวีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น

27 เมษายน 2536 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแก้ไขกฎหมายคุ้มครองแรงงานให้แรงงานหญิงสามารถลาคลอดได้ 90 วัน เครือข่ายจึงประกาศยุติการชุมนุมโดยประกาศฉบับนี้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2536 เป็นต้นมา

การจะได้มาซึ่งกฎหมายลาคลอด 90 วัน จึงถือเป็นอีกหน้าประวัติศาสตร์สำคัญ ที่เกิดจากความร่วมมือกันระหว่างเครือข่ายแรงงานหญิง องค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงาน ด้านผู้หญิง ด้านเด็ก องค์กรแรงงาน สหภาพแรงงาน นักวิชาการ นักการเมืองหญิง รวมไปถึงสื่อมวลชน เป็นการต่อสู้เพื่อสิทธิและสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมมาจนถึงทุกวันนี้

บทความที่เกี่ยวข้อง
7 ข้อเสนอ ที่ทุกองค์กรต้องมีเพื่อจัดการปัญหาการคุกคามทางเพศ
7 ข้อเสนอ ที่ทุกองค์กรต้องมีเพื่อจัดการปัญหาการคุกคามทางเพศ เพราะปัญหาการคุกคามทางเพศเป็นเรื่องละเอียดอ่อน แนวทางเอาผิดทางวินัยของแต่ละองค์กรนั้นยังไม่ละเอียดอ่อนเพียงพอที่จะจัดการกับปัญหานี้ได้
20 Nov 2023
ความสัมพันธ์ทางเพศต้องเกิดจากความยินยอม (Consent)  3 คำจำและนำไปใช้ ASK-LISTEN-RESPECT
Consent หรือการยินยอม คือความเสมอภาคระหว่างเพศ เพราะนั่นหมายถึงความยินยอมพร้อมใจของทั้งสองฝ่าย ทุกครั้งที่มีความสัมพันธ์ทางเพศต้องมีการตกลงกันอย่างชัดเจน
7 Nov 2023
“เพื่อนช่วยเพื่อน” กลุ่มผู้ชายลด ละ เลิกเหล้า ลดความรุนแรงในครอบครัว
กรณีตัวอย่างของการปรับเปลี่ยนผู้ชายที่ใช้ความรุนแรงในครอบครัวที่มีทัศนคติ ค่านิยมแบบชายเป็นใหญ่ โดยอาศัยกระบวนการกลุ่มและการหนุนเสริมที่เข้าใจ และเป็นมิตร ที่เรียกว่า "เพื่อนช่วยเพื่อน" กลุ่มผู้ชายลด ละ เลิกเหล้า ลดความรุนแรงในครอบครัว
28 Sep 2023
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy