share

การคุกคามทางเพศในที่ทำงาน พฤติกรรมที่ไม่พึงปรารถนา

Last updated: 13 Jun 2024
108 Views
 การคุกคามทางเพศในที่ทำงาน พฤติกรรมที่ไม่พึงปรารถนา

(เผยแพร่บทความเมื่อ 12 มกราคม 2564)

การคุกคามทางเพศ (Sexual Harassment)

การคุกคามทางเพศ หรือ Sexual Harassment ตามพจนานุกรมฉบับล่าสุดปี พ.ศ. 2544 หมายถึง "การกระทำหรือพฤติกรรมทางเพศที่ผู้ถูกกระทำ หรือผู้ที่ตกเป็นเหยื่อถือว่าเป็นสิ่งที่ ไม่พึงปรารถนา และ ไม่ต้องการ โดยการคุกคามทางเพศดังกล่าว อาจอยู่ในรูปแบบของการแสดงออกทางวาจา กริยาท่าทาง หรือการสัมผัสทางร่างกาย อีกทั้งยังเป็นการแสดงออกที่สะท้อนให้เห็นถึงอำนาจต่อรองที่มีเหนือกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง" ซึ่งสอดคล้ององค์การสหประชาชาติโดยคณะกรรมการว่าด้วยการเลือกปฏิบัติต่อสตรี (Committee on the Elimination of All Forms Discrimination Against Women – CEDAW Committee) ที่อธิบายพฤติกรรมที่เป็นการคุกคามทางเพศในทางกฎหมายไว้ว่าเป็นพฤติกรรมที่ผู้ถูกกระทำไม่พึงปรารถนาและไม่ต้องการ ซึ่งอาจมีลักษณะของ พฤติกรรมในรูปแบบของการกระทำด้วยวาจา การแสดงกิริยาท่าทางต่าง ๆ การสัมผัสหรือจับต้องร่างกาย รวมทั้งการสร้างบรรยากาศสิ่งแวดล้อมที่ไม่ต้องการ

ความแตกต่างของการคุกคามทางเพศในแต่ละวัฒนธรรม

“การคุกคามทางเพศ” คำนี้ถูกตีความหมายไว้ค่อนข้างกว้างตามกรอบวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ เช่น ในประเทศทางฝั่งยุโรปจะเน้นเรื่องเพศเป็นหลัก ต่างจากประเทศญี่ปุ่นที่เริ่มตั้งแต่การทักท้วงเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างการถามเรื่องแต่งงาน การมีลูก หรือแม้แต่พูดเรื่องรูปลักษณ์ภายนอก สีผม เสื้อผ้า ก็ถือเป็นการคุกคามทางเพศได้แล้ว จากข้อมูลในปี 2559 ผู้หญิงญี่ปุ่นถูกคุกคามทางเพศในที่ทำงานราว 1 ใน 3 ในขณะที่ 2 ใน 3 ของผู้หญิงที่ถูกคุกคาม เลือกที่จะเก็บเรื่องนี้ไว้เงียบ ๆ

ในส่วนของประเทศไทยเองก็มีการตีความการคุกคามทางเพศค่อนข้างหลากหลาย ตั้งแต่

  1. การกระทำด้วยสายตา เช่น การจ้องมอง ใช้สายตาที่ส่อไปในทางเพศจนทำให้อีกฝ่ายหรือคนรอบข้างเกิดความอึดอัด ไม่ปลอดภัย
  2. การกระทำด้วยวาจา การใช้คำพูด มุขตลกที่ส่อไปในทางเพศ พูดจาแทะโลม พูดถึงอวัยวะหรือส่วนต่าง ๆ ในร่างกายโดยที่อีกฝ่ายรู้สึกไม่สบายใจ การชวนไปมีเพศสัมพันธ์โดยที่อีกฝ่ายไม่ยินยอม พูดจาการข่มขู่ หรือเสนอข้อแลกเปลี่ยนทางเพศ
  3. การกระทำด้วยกาย เช่น การฉวยโอกาส แตะเนื้อต้องตัว สัมผัส โดยที่มีนัยสำคัญส่อไปในเรื่องเพศ การติดตาม ถ้ำมอง หรือแม้แต่การกลั่นแกลงให้อีกฝ่ายต้องปลดเปลื้องเครื่องแต่งกาย ดึงกางเกง ถอดเสื้อ หรือบังคับให้สวมใส่เสื้อผ้าที่สร้างความอับอาย ตลกขบขันโดยที่อีกฝ่ายไม่เต็มใจ ก็ถือเป็นการล่วงละเมิดทางเพศเช่นกัน
  4. การกระทำด้วยสื่ออินเทอร์เน็ต เช่น การพิมพ์ข้อความ ส่งรูปภาพลามก สร้างความรำคาญ ไม่สบายใจ ไม่ปลอดภัย การแอบถ่ายภาพและนำไปเผยแพร่โดยไม่ได้รับการยินยอม

การคุกคามทางเพศเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา ไม่เฉพาะกับนายจ้างลูกจ้าง

ในอดีตการคุกคามทางเพศจะถูกพูดถึงมากในสถานที่ทำงาน การคุกคามทางเพศจากนายจ้าง หัวหน้างาน โดยคำว่า Sexual ถูกบัญญัติขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ.1964 โดย ฟาร์เลย์ ลิน (Farley Lin) นักสื่อสารมวลชนผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี โดยให้คำนิยามไว้ว่า “พฤติกรรมการคุกคามทางเพศนั้นผู้ชายมักจะเกิดจากความคิดที่ว่าผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศมากกว่าเป็นคนงานที่มีหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งเป็นพฤติกรรมที่แสดงการยืนยันถึงอำนาจของเพศชายโดยผู้กระทำจะมีสถานะสูงกว่าผู้หญิงที่ถูกกระทำ” จะเห็นได้ว่าเป็นการนิยามถึงการคุกคามทางเพศจากการจ้างงานเป็นประเด็นหลัก ต่อมาการคุกคามทางเพศถูกนิยามกว้างขึ้น ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในสถานที่ทำงาน หรือการจ้างงานอีกต่อไป เราจะเห็นว่าในปัจจุบัน การคุกคามทางเพศขยายพื้นที่มาในสื่ออินเทอร์เน็ต การพิมพ์ข้อความ สนทนา แสดงความคิดเห็น ล้วนส่งผลให้การคุกคามทางเพศเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา

การคุกคามทางเพศเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ

การคุกคามทางเพศไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับเพศหญิงเท่านั้น แต่เกิดขึ้นได้กับทุก ๆ เพศ ผู้ชายถูกคุกคามทางเพศ พิมพ์ข้อความที่สร้างความอึดอัดใจ ขอดูอวัยวะเพศ ส่งภาพลามก หรือแม้แต่การหน่วงเหนี่ยว สัมผัสร่างกายจนเกิดความไม่สบายใจ ไม่ปลอดภัยก็เกิดขึ้นได้ เช่นเดียวกับผู้หญิงและ LGBT ดังนั้นไม่ว่าเพศใดก็มีโอกาสถูกคุกคามทางเพศได้ โดยจะเห็นได้ว่าการคุกคามทางเพศมีความเกี่ยวพันกับการใช้อำนาจเหนือและยังผูกโยงไปกับระบบคิดแบบชายเป็นใหญ่ ที่รู้สึกว่าการใช้อำนาจนำไปสู่การได้รับในสิ่งตัวเองต้องการและการแสดงออกเรื่องเพศสามารถทำได้ทันที

แล้วการหยอกล้อกับเพื่อนสนิท หรือพิมพ์ข้อความใต้รูป ถือเป็นการคุกคามทางเพศหรือไม่?

หากพิจารณาตามนิยามของการคุกคามทางเพศทีระบุว่า “เป็นการกระทำที่ทำให้อีกฝ่ายเกิดความไม่สบายใจ อึดอัด และไม่ปลอดภัย” ซึ่งหากอีกฝ่ายเกิดความรู้สึกดังกล่าว ย่อมเข้าข่ายการคุกคามทางเพศอย่างแน่นอน แต่หากอีกฝ่ายไม่รู้สึกได้รับผลกระทบ ก็อาจมองในแง่ของความไม่เหมาะสม ทั้งนี้การยับยั้งพฤติกรรมเป็นสิ่งที่สมควรกว่า เนื่องจากการคุกคามทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นวาจา การกระทำ หรือการใช้สื่ออินเทอร์เน็ต เป็นการหมิ่นเกียรติ ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ และลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

การพิมพ์ข้อความใต้รูปภาพ เช่น “จะเลียให้ล้ม” “ใส่ชุดนักศึกษามาหาพี่นะ” “ถ้าเจอจะจัดให้หนัก” “…ใหญ่มาก” “จะตามไปถึงบ้านเลย” ข้อความเหล่านี้เป็นข้อความที่อาจสร้างความไม่สบายใจ อึดอัด ไม่ปลอดภัย และยังเป็นการไม่เคารพสิทธิผู้อื่น ตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญของไทยมาตรา 32 วรรค 1 ว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย” “การกระทำอันเป็นการละเมิดหรือกระทบต่อสิทธิของบุคคลตามวรรคหนึ่งหรือการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ประโยชน์ไม่ว่าในทางใด ๆ จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจ ตามบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ”

......

* ที่มา *

https://thematter.co/.../other-side-of-sexual.../23851

http://www.polsci-law.buu.ac.th/journal/document/8-2/10.pdf

http://dspace.spu.ac.th/bitstream/123456789/5529/9/บทที่%202%20.pdf

https://www.pptvhd36.com/news/ไลฟ์สไตล์/23855

บทความที่เกี่ยวข้อง
7 ข้อเสนอ ที่ทุกองค์กรต้องมีเพื่อจัดการปัญหาการคุกคามทางเพศ
7 ข้อเสนอ ที่ทุกองค์กรต้องมีเพื่อจัดการปัญหาการคุกคามทางเพศ เพราะปัญหาการคุกคามทางเพศเป็นเรื่องละเอียดอ่อน แนวทางเอาผิดทางวินัยของแต่ละองค์กรนั้นยังไม่ละเอียดอ่อนเพียงพอที่จะจัดการกับปัญหานี้ได้
20 Nov 2023
ความสัมพันธ์ทางเพศต้องเกิดจากความยินยอม (Consent)  3 คำจำและนำไปใช้ ASK-LISTEN-RESPECT
Consent หรือการยินยอม คือความเสมอภาคระหว่างเพศ เพราะนั่นหมายถึงความยินยอมพร้อมใจของทั้งสองฝ่าย ทุกครั้งที่มีความสัมพันธ์ทางเพศต้องมีการตกลงกันอย่างชัดเจน
7 Nov 2023
“เพื่อนช่วยเพื่อน” กลุ่มผู้ชายลด ละ เลิกเหล้า ลดความรุนแรงในครอบครัว
กรณีตัวอย่างของการปรับเปลี่ยนผู้ชายที่ใช้ความรุนแรงในครอบครัวที่มีทัศนคติ ค่านิยมแบบชายเป็นใหญ่ โดยอาศัยกระบวนการกลุ่มและการหนุนเสริมที่เข้าใจ และเป็นมิตร ที่เรียกว่า "เพื่อนช่วยเพื่อน" กลุ่มผู้ชายลด ละ เลิกเหล้า ลดความรุนแรงในครอบครัว
28 Sep 2023
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy