(เผยแพร่บทความเมื่อ 27 ธันวาคม 2562)
“พระล่วงละเมิดทางเพศ” เหตุการณ์แบบนี้คงแทบไม่มีใครเชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้ แต่จากการเก็บข้อมูลข่าวหนังสือพิมพ์ย้อนหลังไป 3 ปี ของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล พบว่า ในปี 2556 มีเหตุการณ์ล่วงละเมิดทางเพศจากพระจำนวน 5 เหตุการณ์ ปี 2558 จำนวน 15 เหตุการณ์ และปี 2560 จำนวน 8 เหตุการณ์ นี่คือข้อมูลที่สะท้อนให้เห็นว่าการล่วงละเมิดทางเพศเกิดขึ้นในทุกสังคม แม้ว่าตัวเลขอาจจะดูไม่มาก แต่ก็เชื่อว่ายังมีอีกหลายเหตุการณ์ที่ไม่ตกเป็นข่าวและถูกปล่อยผ่าน เพราะผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศส่วนใหญ่มักจะไม่กล้าออกมาร้องทุกข์ เนื่องจากพระเป็นผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ เป็นบุคคลที่ประชาชนศรัทธา และอาจกลัวตัวเองเสื่อมเสียชื่อเสียง
การล่วงละเมิดทางเพศมีสาเหตุมาจากโครงสร้างเชิงอำนาจ ความไม่เท่าเทียมทางเพศที่เกิดขึ้นในทุกสถานที่ จากทั้งคนนอกและคนใกล้ตัว กรณีพระล่วงละเมิดทางเพศนั้นเป็นการใช้อำนาจที่เหนือกว่ากับลูกศิษย์ที่เป็นเณร หรือญาติโยมที่ศรัทธาไว้เนื้อเชื่อใจ อาศัยความศรัทธาของประชาชนมาเป็นโอกาสในการข่มขืน ล่วงละเมิดทางเพศ
จากข้อมูลการให้ความช่วยเหลือของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล พบว่าพระที่ข่มขืน ล่วงละเมิดทางเพศมีสองรูปแบบคือ
1.พระข่มขืน ล่วงละเมิดทางเพศกับเณรที่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ศรัทธาส่งลูกหลานมาบวชเรียน และมีโอกาสใกล้ชิดกับพระที่สอนหนังสือ แต่พระกลุ่มหนึ่งกลับใช้โอกาสนี้ล่วงละเมิดเทางเพศ
2.พระข่มขืน ล่วงละเมิดทางเพศกันโยมที่เป็นผู้หญิง ผู้หญิงบางคนมีปัญหาความทุกข์ใจเรื่องครอบครัว ความรัก การงาน หาทางออกไม่ได้จึงมาหาพระเพื่อให้ช่วยเหลือ ดูดวง สะเดาะเคราะห์ ตามแต่ความเชื่อส่วนบุคคล พระกลุ่มหนึ่งจึงใช้โอกาสที่ได้ใกล้ชิดนี้ กระทำอนาจาร ล่วงละเมิดทางเพศ
การออกมาต่อสู้ของผู้ถูกข่มขืน ล่วงละเมิดทางเพศทั้งที่เป็นเณรและเป็นผู้หญิงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะพระมักจะเป็นผู้มีอิทธิพลและสังคมก็มองว่าพระเป็นบุคคลที่มีคุณงามความดี จิตใจบริสุทธิ์ ละเรื่องทางโลกและเรื่องเพศทั้งหลาย ไม่เชื่อว่าจะกระทำแบบนี้ได้ ใครลุกมาต่อสู้คือคนบาป ทำหลายกรณีไม่กล้าออกมาต่อสู้ และปล่อยให้เป็นตราบาปในชีวิตของตัวเอง
ดังนั้นสถานการณ์การข่มขืน ล่วงละเมิดทางเพศในวัดบางแห่งที่ผู้คนศรัทธาจึงส่งผลต่อความไม่ปลอดภัย พูดอย่างนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกวัดจะไม่ปลอดภัย แต่สำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติควรนำเรื่องนี้มาวิเคราะห์อย่างจริงจัง โดยมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลมีข้อเสนอดังนี้
1.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติควรมีศูนย์ให้คำปรึกษาและร้องทุกข์เกี่ยวกับปัญหาการข่มขืน ล่วงละเมิดทางเพศ ที่เป็นอิสระโดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคม มาเป็นกรรมการศูนย์
2.ควรให้ชุมชนมีส่วนร่วมในดูแลปัญหาคุกคามทางเพศ เฝ้าระวังปัญหาในชุมชนที่มีวัดอยู่
3.ให้ความรู้เกี่ยวกับปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศแก่คนในสังคมและชุมชนรอบข้างวัดเพื่อนำไปสู่การป้องกันปัญหาในอนาคต