(เผยแพร่บทความเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2562)
องค์การสหประชาชาติได้มีมติรับรองให้วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปีเป็น “วันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล” (International Day for the Elimination of Violence against Women) สำหรับประเทศไทย คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2542 เห็นชอบให้เดือนพฤศจิกายนของทุกปีเป็น “เดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี”
จากสถิติผลการวิจัยของ UN Women เผยว่า 1 ใน 3 ของจำนวนผู้หญิงทั่วโลกมีประสบการณ์ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศ ซึ่งพบอย่างน้อย 1 ครั้งในชีวิต ขณะที่สถิติภาพรวมปัญหาความรุนแรงต่อสตรีพบมีมากขึ้นทุกปี
มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลได้รวบรวมข้อมูลสถานการณ์ด้านความรุนแรงในครอบครัวจากข่าวหนังสือพิมพ์ประจำปี 2561 จำนวน 10 ฉบับ พบข่าวความรุนแรงในครอบครัว จำนวน 623 ข่าว ในจำนวนนี้มีข่าวที่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยกระตุ้นโดยมีเนื้อหาข่าวมีการระบุเชื่อมโยงถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จำนวน 108 ข่าวหรือประมาณร้อยละ 17.3 ของข่าวความรุนแรงในครอบครัวทั้งหมด โดยพบข่าวการฆ่ากันสูงที่สุด ร้อยละ 61.6 รองลงมา คือ ข่าวการฆ่าตัวตาย ร้อยละ 14.9 และข่าวการทำร้ายกัน ร้อยละ 14.5 นอกจากนี้ยังมีข่าวการตั้งครรภ์ไม่พร้อม ร้อยละ 5.3 และข่าวความรุนแรงทางเพศของบุคคลในครอบครัว ร้อยละ 53.7
โดยในปี 2562 มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ได้จัดกิจกรรมรณรงค์ภายใต้แนวคิด “งานบ้านเป็นของทุกคน ทำได้ทุกเพศ” เพื่อรณรงค์สร้างความเสมอภาค ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ลดความรุนแรงในครอบครัว โดยการเริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ อย่างการช่วยกันทำงานบ้าน เลี้ยงลูก
ที่ผ่านมามักมีความคิดว่าการทำงานบ้าน เลี้ยงลูกเป็นเรื่องของผู้หญิงเท่านั้น แม้ว่าผู้หญิงจะมีภาระหน้าที่หรือต้องออกไปทำงานนอกบ้านเช่นเดียวกับผู้ชาย ซึ่งความคิดเหล่านี้สะท้อนสถานการณ์ปัญหาความรุนแรงต่อสตรีที่เกิดจากกรอบคิดและวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ที่ทำให้ผู้ชายมีอำนาจเหนือผู้หญิง ส่งผลต่อความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศ ทำให้สถานภาพของผู้หญิงในสังคมไทยตกอยู่ในฐานะ “เหยื่อของความไม่เท่าเทียม” มาโดยตลอด
การรณรงค์ปรับทัศนคติของผู้ชายกับการทำงานบ้าน จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการทลายฐานคิดแบบชายเป็นใหญ่ ก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เกิดความเห็นอกเห็นใจ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เสริมสร้างสัมพันธภาพที่ดีของคนในครอบครัว นำไปสู่การยุติความรุนแรงในครอบครัวได้อีกทางหนึ่งด้วย