แชร์

บทเรียน "ลัลลาเบล" สปอตไลท์ส่องพฤติกรรมชายเป็นใหญ่

อัพเดทล่าสุด: 13 มิ.ย. 2024
159 ผู้เข้าชม

(เผยแพร่บทความเมื่อ 30 กันยายน 2562)

การเสียชีวิตของลัลลาเบล เปรียบเสมือนสปอตไลท์ที่ทำให้เราเห็น พฤติกรรมแบบชายเป็นใหญ่ชัดเจนขึ้น พฤติกรรมของผู้ชายที่คิดว่าการล่วงละเมิดทางเพศไม่ใช่เรื่องผิด และการมีขึ้นของอาชีพที่หลากหลาย อย่าง พริตตี้ที่รับงานเอนเตอร์เทน ในขณะที่ภาครัฐยังไม่ให้การคุ้มครอง

พริตตี้ที่รับงานเอนเตอร์เทน อาชีพที่เสี่ยงต่อการถูกล่วงละเมิด

พริตตี้ที่รับงานเอนเตอร์เทน เป็นอาชีพที่รู้จักกันเฉพาะกลุ่มมานานแล้ว แต่ต้องยอมรับว่าการเสียชีวิตของลัลลาเบลทำให้เรารู้จักแง่มุมของอาชีพนี้มากขึ้น อาชีพที่มีความเกี่ยวพันกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรืออาจจะไปถึงยาเสพติด การทำงานท่ามกลางความเสี่ยง การถูกอำนาจชายเป็นใหญ่ครอบงำ เมื่อจ้างพริตตี้ไปเอนเตอร์เทน นั่งคุยเป็นเพื่อน ทานข้าว ชงเหล้า สร้างความสุข สนุกสนาน ตามแต่จะตกลงกันไว้ แต่ด้วยอำนาจชายเป็นใหญ่ที่คิดว่าจะทำอะไรกับผู้หญิงก็ได้ ยิ่งได้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยิ่งทำให้การยับยั้งชั่งใจลดลง การลวนลาม มอมเหล้า แอบผสมสารเสพติด นำไปสู่พฤติกรรมล่วงละเมิดที่ไม่เป็นไปตามข้อตกลง ผู้หญิงจึงตกเป็นเหยื่อ

Victim Blaming (การกล่าวโทษเหยื่อ)

สังคมไทยมองว่าการดื่มเหล้าเคล้านารีเป็นเรื่องปกติ ผู้ชายทำได้ไม่ผิด ในขณะที่ผู้หญิงกลับถูกตีตราว่าเป็นผู้หญิงไม่ดี ถูกเหยียดหยามจากสังคม ทุกครั้งที่เกิดการล่วงละเมิดทางเพศ โดยเฉพาะกับอาชีพแบบนี้ เรามักจะได้ยินการกล่าวโทษเหยื่อ “ก็ทำงานแบบนั้น โดนบ้างก็คงไม่แปลก” “แต่งตัวโป๊ ก็สมควรแล้ว” “ไปยั่วเขา เขาก็ต้องมีอารมณ์เป็นธรรมดา” “เขาจ้างไปแล้ว จะทำอะไรก็ได้” อีกทั้งเรายังเหยียดกลุ่มคนที่ทำอาชีพแบบนี้ เพียงแค่เขาไม่ได้เป็นครู เป็นพนักงานบริษัท หรือเป็นอาชีพอะไรก็ตามที่สังคมคิดไปเองว่าดีกว่า

การล่วงละเมิดทางเพศ ไม่ได้เกิดกับคนที่แต่งตัวโป๊ หรืออยู่ในที่เปลี่ยวแบบที่หลายคนเข้าใจ

จากโครงการ “Don’t tell me how to dress” เราพบว่าผู้หญิงหรือแม้แต่ผู้ชายที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ไม่ได้สวมใส่เสื้อผ้าที่ล่อแหลม โป๊เปลือย เดินอยู่ในที่เปลี่ยวอย่างที่สังคมเข้าใจ และจากข้อมูลก็พบว่าเด็กและเยาวชนถูกล่วงละเมิดทางเพศมากขึ้น จากคนอื่นก็กลายเป็นคนในครอบครัว พ่อ ญาติพี่น้อง คนในชุมชน ไม่ใช่แค่พริตตี้ที่รับงานเอนเตอร์เทน หรือสาวเชียร์เบียร์ ทุกคนมีความเสี่ยงจากการถูกล่วงละเมิดทั้งสิ้น สิ่งเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าเราเข้าใจผิดกันมาโดยตลอด ผู้ชายถูกปลูกฝังให้เป็นผู้นำ มีสิทธิในการตัดสินใจ จะทำอะไรก็ได้ หากมีความรู้สึกทางเพศก็สามารถแสดงออกได้เลยทันที นี่คือการปลูกฝังระบบคิดแบบชายเป็นใหญ่ที่นำมาสู่ปัญหาระหว่างเพศ

ความคิดแบบชายเป็นใหญ่มีอิทธิพลต่อการเข้าถึงอาชีพของผู้หญิง

ความคิดแบบชายเป็นใหญ่ที่ส่งผลไปถึงผู้จ้างงาน ทำให้การเข้าถึงอาชีพของผู้หญิงถูกจำกัด ผู้จ้างงาน (นายจ้าง) หรือบริษัทบางแห่งมีความชื่อว่าผู้หญิงไม่มีศักยภาพเท่าผู้ชาย มีการเลือกรับเฉพาะเพศชาย หรือผู้หญิงโสด เพราะหากรับผู้หญิงที่มีแฟนหรือมีครอบครัว ไม่นานก็ต้องแต่งงาน เมื่อมีลูกก็ต้องใช้สิทธิลาคลอด หรือต้องหยุดงานไปเลี้ยงลูก ส่งผลกระทบต่อการทำงาน ซึ่งถือเป็นการเลือกปฏิบัติระหว่างเพศ ทำให้ผู้หญิงไม่สามารถเข้าถึงอาชีพที่มีรายได้อย่างที่ตนต้องการและหันไปหาอาชีพอื่นที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้นแทน

ภาครัฐต้องยอมรับและคุ้มครองอาชีพที่หลากหลาย

ด้วยบริบทของสังคมที่เปลี่ยนไป ภาระที่ผู้หญิงต้องแบกรับ หลายคนต้องเลี้ยงดูตัวเอง เลี้ยงดูครอบครัว หรือทำงานไปด้วยระหว่างเรียน การเลือกอาชีพที่สามารถทำเงินได้เร็วอย่างอาชีพพริตตี้ จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือก ยังไม่รวมถึงอาชีพอื่นๆ ที่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ อยู่ในมุมมืดเทาของสังคม

ที่ผ่านมาหลายองค์กรพยายามผลักดัน เรียกร้องให้อาชีพเหล่านี้ได้รับสวัสดิการ มีกฎหมายคุ้มครองแรงงานเหมือนอาชีพอื่นๆ ซึ่งภาครัฐต้องยอมรับว่าอาชีพเหล่านี้เกิดขึ้นในสังคมที่มีความหลากหลาย ต้องให้ความคุ้มครอง ป้องกันการถูกล่วงละเมิดทางเพศ แต่ไม่ใช่การเข้าไปควบคุม ผู้หญิงที่ทำอาชีพเหล่านี้ก็ควรรวมกลุ่ม สร้างเครือข่ายเพื่อให้ความช่วยเหลือ ส่งต่อข้อมูลต่างๆ และสร้างอำนาจในการต่อรองหากเกิดเกิดปัญหาขึ้น

นอกจากนี้ระบบการศึกษาเองก็ควรเร่งสร้างหลักสูตรที่สอนเรื่องของเพศวิถี เลิกยัดเยียดระบบคิดแบบชายเป็นใหญ่ เลิกแบ่งแยกพฤติกรรมที่สอนให้ผู้ชายมีอำนาจ ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ในขณะที่ผู้หญิงต้องเชื่อฟังสามี ทำงานบ้าน เลี้ยงลูก ทั้งที่ความจริงผู้ชายก็สามารถทำงานบ้านได้ เล่นตุ๊กตาได้ เลี้ยงลูกได้ ผู้ชายที่มีความอ่อนโยนไม่ได้แปลว่าผิดปกติ หรือไม่ถูกยอมรับจากสังคม

การให้ความช่วยเหลือและปกป้องสิทธิของเหยื่อ

เมื่อพบเห็นความรุนแรง หรือการถูกล่วงละเมิดทางเพศ สังคมต้องไม่มองว่านี่เป็นเรื่องส่วนตัว ต้องเข้าไปช่วยเหลือ แจ้งตำรวจ หรือโทรแจ้งศูนย์ช่วยเหลือสังคม หมายเลข 1300 หรือองค์กรพัฒนาเอกชนต่าง ๆ

อย่ามองว่าผู้หญิงอยากได้เงิน อยากได้สิ่งของ จึงต้องทำอาชีพแบบนี้ เราต้องเข้าใจความหลากหลายของสังคมและไม่กล่าวโทษเมื่อผู้ใดผู้หนึ่งตกเป็นเหยื่อ แม้แต่การนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนในกรณีของลัลลาเบล ก็ควรนำไปสู่การตั้งคำถามถึงสาเหตุ เบื้องลึก การให้ข้อมูลแนวทางการป้องกัน ที่ไม่ใช่เพียงแค่การรายงานสถานการณ์ การนำเสนอภาพของเหยื่อซ้ำแล้ว ซ้ำอีก และการละเมิดสิทธิเพื่อให้มาเพื่อภาพข่าวที่หวือหวา ซึ่งนั่นอาจส่งผลกระทบต่อจิตใจของคนในครอบครัว รวมถึงลูกของเธอเมื่อโตขึ้นด้วย


บทความที่เกี่ยวข้อง
กิจกรรมรณรงค์วันยุติความรุนแรงต่อสตรีและเด็ก มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ร่วมกับ BBDO ร่วมนำเสนอแคมเปญ "Bring Back Second Chance Of Life คืนโอกาสดี ๆ ให้ตัวเอง และเลิกให้โอกาสที่ 2 กับความรุนแรง"
วันที่ 25 พฤศจิกายน ของทุกปี เป็นวันยุติความรุนแรงต่อสตรีและเด็ก ปีนี้มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ร่วมกับ BBDO บริษัทเอเจนซี่แนวหน้า นำเสนอแคมเปญ Bring Back Second Chance Of Life คืนโอกาสดี ๆ ให้ตัวเอง และเลิกให้โอกาสที่ 2 กับความรุนแรง โดยสื่อสารผ่านการกลับมาของ จีจี้ สุพิชชา
25 พ.ย. 2024
7 ข้อเสนอ ที่ทุกองค์กรต้องมีเพื่อจัดการปัญหาการคุกคามทางเพศ
7 ข้อเสนอ ที่ทุกองค์กรต้องมีเพื่อจัดการปัญหาการคุกคามทางเพศ เพราะปัญหาการคุกคามทางเพศเป็นเรื่องละเอียดอ่อน แนวทางเอาผิดทางวินัยของแต่ละองค์กรนั้นยังไม่ละเอียดอ่อนเพียงพอที่จะจัดการกับปัญหานี้ได้
20 พ.ย. 2023
ความสัมพันธ์ทางเพศต้องเกิดจากความยินยอม (Consent)  3 คำจำและนำไปใช้ ASK-LISTEN-RESPECT
Consent หรือการยินยอม คือความเสมอภาคระหว่างเพศ เพราะนั่นหมายถึงความยินยอมพร้อมใจของทั้งสองฝ่าย ทุกครั้งที่มีความสัมพันธ์ทางเพศต้องมีการตกลงกันอย่างชัดเจน
7 พ.ย. 2023
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy