Last updated: 21 ก.พ. 2565 | 374 จำนวนผู้เข้าชม |
(เผยแพร่บทความเมื่อ 22 ตุลาคม 2562)
คนทั่วไปอาจจะคิดว่าการออกจากสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องง่าย แต่สำหรับผู้หญิงที่มาขอปรึกษาจากมูลนิธินั้นมีความต่างอย่างสิ้นเชิง ผู้หญิงหลายคนตกอยู่ในภาวะจำยอมจนถึงที่สุด เผชิญความกลัว ความกดดันมากมาย
สาเหตุส่วนใหญ่ที่ผู้หญิงตกอยู่ในภาวะจำยอมต่อความรุนแรงในครอบครัวจากการรวบรวมของมูลนิธิ มีดังนี้
• ความรักและผูกพัน หวังว่าผู้ชายจะเปลี่ยนได้
ทุกครั้งที่สถานการณ์ความรุนแรงคลี่คลาย ผู้ชายมักจะบอกกับผู้หญิงว่าจะกลับตัว ไม่ใช้ความรุนแรงอีก ขอให้เห็นแก่ความสัมพันธ์ที่ผู้ชายเคยทำดีมาก่อน ทำให้ผู้หญิงมีความหวัง คิดว่าผู้ชายจะปรับตัว ประกอบกับความรักความผูกพัน ทำให้ยอมที่จะทนอยู่ต่อไป
• อดทนเพื่อลูก กลัวลูกมีปมด้อย
เมื่อมีครอบครัว มีลูก ผู้หญิงมักจะคิดว่าถ้าไม่มีพ่อ ลูกจะมีปมด้อย ขาดความอบอุ่น ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของลูกในอนาคต รวมถึงหากปรึกษาพ่อแม่ พ่อแม่ก็มักจะบอกให้แก้ไขปัญหาโดยการอดทน อดทนเพื่อลูก
• พยายามรักษาความเป็นครอบครัว
ตั้งแต่อดีตผู้หญิงมักถูกสอนให้ดูแล ปรนนิบัติสามี หากเลิกราจากสามี กลายเป็นหม้ายจะถูกสังคมมองไม่ดี เป็นผู้หญิงที่ไม่สามารถดูแลครอบครัวได้ อีกทั้งการปลูกฝังความเป็นครอบครัวในอุดมคติ ที่จะต้องประกอบไปด้วย พ่อ แม่ ลูก ยิ่งทำให้ผู้หญิงตกอยู่ในภาวะจำยอมต่อความรุนแรงต่อไป
• คิดว่าความรุนแรงเป็นเรื่องส่วนตัว
เมื่อเกิดปัญหาต้องอดทนไว้ ตามค่านิยมไฟในอย่านำออก ไฟนอกอย่านำเข้า ทำให้ผู้หญิงอดทนไม่ยอมบอกใครถ้าไม่ถึงที่สุด
• ปัญหาเศรษฐกิจ กลัวเลิกกันแล้วไม่มีงาน ไม่มีเงินเลี้ยงดูตัวเอง เลี้ยงดูลูก
ผู้หญิงหลายคนเมื่อแต่งงานแล้ว ลาออกจากงานเพราะสามีอยากให้ดูแลลูก ทำงานบ้าน แต่เมื่อเกิดความรุนแรงในครอบครัว อยากเลิก แต่ไม่มีงานทำ ไม่มีเงินสำรอง ทำให้ไม่กล้าเลิกกับสามี เพราะกลัวจะไม่มีเงินเลี้ยงดูตัวเอง เลี้ยงดูลูก
ดังนั้นกว่าที่ผู้หญิงจะออกจากสถานการณ์นี้ได้ต้องใช้เวลานาน ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ อย่างที่เราเข้าใจ บางคนใช้เวลาหลายสิบปี ถึงจะกล้ามาขอคำปรึกษาจากมูลนิธิ หรือหน่วยงานต่าง ๆ
สังคมจึงควรเข้าใจและคอยช่วยเหลือ ให้กำลังใจ ไม่มองปัญหานี้เป็นเรื่องส่วนตัว หรือตัดสินว่าผู้หญิงไม่ยอมออกจากปัญหานี้หรอก ไม่นานก็กลับไปหาสามีหรือคู่รักอีก
หากพบเห็นปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ควรแจ้งหน่วยงานต่าง ๆ ให้เข้าไปช่วยเหลือ หน่วยงานรัฐก็ควรทำงานงานเขิงรุก มีหน่วยเฝ้าระวังในชุมชนต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาได้ทันสถานการณ์
14 ก.พ. 2566