Last updated: 21 ก.พ. 2565 | 333 จำนวนผู้เข้าชม |
(เผยแพร่บทความเมื่อ 30 กันยายน 2562)
การเสียชีวิตของลัลลาเบล เปรียบเสมือนสปอตไลท์ที่ทำให้เราเห็น พฤติกรรมแบบชายเป็นใหญ่ชัดเจนขึ้น พฤติกรรมของผู้ชายที่คิดว่าการล่วงละเมิดทางเพศไม่ใช่เรื่องผิด และการมีขึ้นของอาชีพที่หลากหลาย อย่าง พริตตี้ที่รับงานเอนเตอร์เทน ในขณะที่ภาครัฐยังไม่ให้การคุ้มครอง
• พริตตี้ที่รับงานเอนเตอร์เทน อาชีพที่เสี่ยงต่อการถูกล่วงละเมิด
พริตตี้ที่รับงานเอนเตอร์เทน เป็นอาชีพที่รู้จักกันเฉพาะกลุ่มมานานแล้ว แต่ต้องยอมรับว่าการเสียชีวิตของลัลลาเบลทำให้เรารู้จักแง่มุมของอาชีพนี้มากขึ้น อาชีพที่มีความเกี่ยวพันกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรืออาจจะไปถึงยาเสพติด การทำงานท่ามกลางความเสี่ยง การถูกอำนาจชายเป็นใหญ่ครอบงำ เมื่อจ้างพริตตี้ไปเอนเตอร์เทน นั่งคุยเป็นเพื่อน ทานข้าว ชงเหล้า สร้างความสุข สนุกสนาน ตามแต่จะตกลงกันไว้ แต่ด้วยอำนาจชายเป็นใหญ่ที่คิดว่าจะทำอะไรกับผู้หญิงก็ได้ ยิ่งได้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยิ่งทำให้การยับยั้งชั่งใจลดลง การลวนลาม มอมเหล้า แอบผสมสารเสพติด นำไปสู่พฤติกรรมล่วงละเมิดที่ไม่เป็นไปตามข้อตกลง ผู้หญิงจึงตกเป็นเหยื่อ
• Victim Blaming (การกล่าวโทษเหยื่อ)
สังคมไทยมองว่าการดื่มเหล้าเคล้านารีเป็นเรื่องปกติ ผู้ชายทำได้ไม่ผิด ในขณะที่ผู้หญิงกลับถูกตีตราว่าเป็นผู้หญิงไม่ดี ถูกเหยียดหยามจากสังคม ทุกครั้งที่เกิดการล่วงละเมิดทางเพศ โดยเฉพาะกับอาชีพแบบนี้ เรามักจะได้ยินการกล่าวโทษเหยื่อ “ก็ทำงานแบบนั้น โดนบ้างก็คงไม่แปลก” “แต่งตัวโป๊ ก็สมควรแล้ว” “ไปยั่วเขา เขาก็ต้องมีอารมณ์เป็นธรรมดา” “เขาจ้างไปแล้ว จะทำอะไรก็ได้” อีกทั้งเรายังเหยียดกลุ่มคนที่ทำอาชีพแบบนี้ เพียงแค่เขาไม่ได้เป็นครู เป็นพนักงานบริษัท หรือเป็นอาชีพอะไรก็ตามที่สังคมคิดไปเองว่าดีกว่า
• การล่วงละเมิดทางเพศ ไม่ได้เกิดกับคนที่แต่งตัวโป๊ หรืออยู่ในที่เปลี่ยวแบบที่หลายคนเข้าใจ
จากโครงการ “Don’t tell me how to dress” เราพบว่าผู้หญิงหรือแม้แต่ผู้ชายที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ไม่ได้สวมใส่เสื้อผ้าที่ล่อแหลม โป๊เปลือย เดินอยู่ในที่เปลี่ยวอย่างที่สังคมเข้าใจ และจากข้อมูลก็พบว่าเด็กและเยาวชนถูกล่วงละเมิดทางเพศมากขึ้น จากคนอื่นก็กลายเป็นคนในครอบครัว พ่อ ญาติพี่น้อง คนในชุมชน ไม่ใช่แค่พริตตี้ที่รับงานเอนเตอร์เทน หรือสาวเชียร์เบียร์ ทุกคนมีความเสี่ยงจากการถูกล่วงละเมิดทั้งสิ้น สิ่งเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าเราเข้าใจผิดกันมาโดยตลอด ผู้ชายถูกปลูกฝังให้เป็นผู้นำ มีสิทธิในการตัดสินใจ จะทำอะไรก็ได้ หากมีความรู้สึกทางเพศก็สามารถแสดงออกได้เลยทันที นี่คือการปลูกฝังระบบคิดแบบชายเป็นใหญ่ที่นำมาสู่ปัญหาระหว่างเพศ
• ความคิดแบบชายเป็นใหญ่มีอิทธิพลต่อการเข้าถึงอาชีพของผู้หญิง
ความคิดแบบชายเป็นใหญ่ที่ส่งผลไปถึงผู้จ้างงาน ทำให้การเข้าถึงอาชีพของผู้หญิงถูกจำกัด ผู้จ้างงาน (นายจ้าง) หรือบริษัทบางแห่งมีความชื่อว่าผู้หญิงไม่มีศักยภาพเท่าผู้ชาย มีการเลือกรับเฉพาะเพศชาย หรือผู้หญิงโสด เพราะหากรับผู้หญิงที่มีแฟนหรือมีครอบครัว ไม่นานก็ต้องแต่งงาน เมื่อมีลูกก็ต้องใช้สิทธิลาคลอด หรือต้องหยุดงานไปเลี้ยงลูก ส่งผลกระทบต่อการทำงาน ซึ่งถือเป็นการเลือกปฏิบัติระหว่างเพศ ทำให้ผู้หญิงไม่สามารถเข้าถึงอาชีพที่มีรายได้อย่างที่ตนต้องการและหันไปหาอาชีพอื่นที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้นแทน
• ภาครัฐต้องยอมรับและคุ้มครองอาชีพที่หลากหลาย
ด้วยบริบทของสังคมที่เปลี่ยนไป ภาระที่ผู้หญิงต้องแบกรับ หลายคนต้องเลี้ยงดูตัวเอง เลี้ยงดูครอบครัว หรือทำงานไปด้วยระหว่างเรียน การเลือกอาชีพที่สามารถทำเงินได้เร็วอย่างอาชีพพริตตี้ จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือก ยังไม่รวมถึงอาชีพอื่นๆ ที่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ อยู่ในมุมมืดเทาของสังคม
ที่ผ่านมาหลายองค์กรพยายามผลักดัน เรียกร้องให้อาชีพเหล่านี้ได้รับสวัสดิการ มีกฎหมายคุ้มครองแรงงานเหมือนอาชีพอื่นๆ ซึ่งภาครัฐต้องยอมรับว่าอาชีพเหล่านี้เกิดขึ้นในสังคมที่มีความหลากหลาย ต้องให้ความคุ้มครอง ป้องกันการถูกล่วงละเมิดทางเพศ แต่ไม่ใช่การเข้าไปควบคุม ผู้หญิงที่ทำอาชีพเหล่านี้ก็ควรรวมกลุ่ม สร้างเครือข่ายเพื่อให้ความช่วยเหลือ ส่งต่อข้อมูลต่างๆ และสร้างอำนาจในการต่อรองหากเกิดเกิดปัญหาขึ้น
นอกจากนี้ระบบการศึกษาเองก็ควรเร่งสร้างหลักสูตรที่สอนเรื่องของเพศวิถี เลิกยัดเยียดระบบคิดแบบชายเป็นใหญ่ เลิกแบ่งแยกพฤติกรรมที่สอนให้ผู้ชายมีอำนาจ ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ในขณะที่ผู้หญิงต้องเชื่อฟังสามี ทำงานบ้าน เลี้ยงลูก ทั้งที่ความจริงผู้ชายก็สามารถทำงานบ้านได้ เล่นตุ๊กตาได้ เลี้ยงลูกได้ ผู้ชายที่มีความอ่อนโยนไม่ได้แปลว่าผิดปกติ หรือไม่ถูกยอมรับจากสังคม
• การให้ความช่วยเหลือและปกป้องสิทธิของเหยื่อ
เมื่อพบเห็นความรุนแรง หรือการถูกล่วงละเมิดทางเพศ สังคมต้องไม่มองว่านี่เป็นเรื่องส่วนตัว ต้องเข้าไปช่วยเหลือ แจ้งตำรวจ หรือโทรแจ้งศูนย์ช่วยเหลือสังคม หมายเลข 1300 หรือองค์กรพัฒนาเอกชนต่าง ๆ
อย่ามองว่าผู้หญิงอยากได้เงิน อยากได้สิ่งของ จึงต้องทำอาชีพแบบนี้ เราต้องเข้าใจความหลากหลายของสังคมและไม่กล่าวโทษเมื่อผู้ใดผู้หนึ่งตกเป็นเหยื่อ แม้แต่การนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนในกรณีของลัลลาเบล ก็ควรนำไปสู่การตั้งคำถามถึงสาเหตุ เบื้องลึก การให้ข้อมูลแนวทางการป้องกัน ที่ไม่ใช่เพียงแค่การรายงานสถานการณ์ การนำเสนอภาพของเหยื่อซ้ำแล้ว ซ้ำอีก และการละเมิดสิทธิเพื่อให้มาเพื่อภาพข่าวที่หวือหวา ซึ่งนั่นอาจส่งผลกระทบต่อจิตใจของคนในครอบครัว รวมถึงลูกของเธอเมื่อโตขึ้นด้วย
14 ก.พ. 2566